การแปรของภาษา...โดย พ่อบ้านเยอรมัน
(comments: 0)
ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนภาษาที่ใช้นั้นจะต่างมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคหรือที่เรียกว่า “ภาษาถิ่น” ยกตัวอย่างคำว่า กลับบ้าน ในภาษาไทยซึ่งเป็นภาษากลาง ภาษาเหนือจะใช้ ปิ๊กบ้าน ภาษาใต้ใช้ หลบบ้าน และภาษาอีสานใช้ เมือบ้าน คำเหล่านี้นั้นล้วนเกิดจากการแปรของภาษา (language variation) ปริญญา ทองประภา ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การแปรของภาษา (language variation) หมายถึงการที่ภาษามีการแปรเปลี่ยนภายในตัวภาษาเดียวกัน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความหลากหลายในการใช้ภาษาในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปโดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง”
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษาคือภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอโดยมีปัจจัยที่สนับสนุนหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ การศึกษา อาชีพ สถานะทางสังคม ภูมิภาคที่อาศัย หรือทัศนคติ เช่น เมื่อเราพูดกับผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่าระดับของภาษาและการใช้คำก็จะต่างกับเวลาที่เราพูดกับคนวัยเดียวกันหรือเพื่อนกัน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นคือภาษาของวัยรุ่นในปัจจุบัน เช่น นก มุ้งมิ้ง ฟรุ้งฟริ้ง หรือฟิน คำเหล่านี้เป็นภาษาเฉพาะที่สื่อความหมายที่เข้าใจกันภายในกลุ่ม หากเราไม่เคยได้ยินไม่เคยรู้จักก็ย่อมจะไม่เข้าใจความหมายว่าหมายถึงอะไร
นอกจากปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการแปรของภาษาแล้วเราอาจจะเห็นได้อีกว่าการแปรของภาษานั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของไวยากรณ์ การเปลี่ยนวิธีการออกเสียงและสำเนียงก็สามารถทำให้เกิดการแปรของภาษาได้เช่นกัน
เรื่องของการแปรของภาษานั้นภาษาเยอรมันถือว่าเป็นภาษาที่มีความหลากหลายไม่แพ้ภาษาอื่น ๆ เลย เพราะนอกจากจะมีการแบ่งระดับของคำพูดอย่างชัดเจน เช่น การใช้ du หรือ Sie ที่จะบ่งบอกระดับของภาษาที่เราจะใช้กับผู้ที่เราต้องการสื่อสาร หรือการเปลี่ยนระดับของเสียงก็จะเปลี่ยนจากประโยคบอกเล่าให้กลายเป็นคำถามได้อย่างทันที ดังนั้นการที่เราต้องเรียนรู้ระดับของภาษาในภาษาเยอรมันนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะถ้าเราใช้ระดับของภาษาผิดก็อาจจะทำให้คู่สนทนาของเราเกิดความไม่พอใจได้
พ่อบ้านฯ ขอยกตัวอย่างการแปรของภาษาเยอรมันเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น คำทักทาย (Begrüßung) โดยปกตินั้นในภาษาเยอรมันจะมีคำทักทายตามมาตรฐาน และสามารถใช้ได้ในทุกรูปแบบของการทักทายของเยอรมัน เช่น คำว่า Hallo, Guten Morgen, Guten Tag หรือ Guten Abend แต่เมื่อเดินทางไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศเยอรมนี เราจะเห็นได้ว่ายังมีคำทักทายอีกมากและมีคำที่นิยมใช้ในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน เช่น
Moin! หรือ Moin Moin! นิยมใช้ในทางภาคเหนือของเยอรมนี
Grüß Gott หรือServus นิยมใช้ในทางภาคใต้ของเยอรมนี
Grüezi นิยมใช้ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หรือเขตของประเทศเยอรมนีที่ติดกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์
Hoi นิยมใช้ในประเทศลิกเตนสไตน์หรือเขตของประเทศเยอรมนีที่ติดกับประเทศลิกเตนสไตน์
Na, Nad เป็นคำทักทายที่เหมือนกับภาษาของวัยรุ่นที่จะนิยมใช้สำหรับเพื่อนที่สนิทกัน ซึ่งเหมือนกับ Hi, Heyในภาษาอังกฤษ
พ่อบ้านฯ คิดว่าการที่เรารู้จักการแปรของภาษานั้นมีประโยชน์ในเบื้องต้น ดังนี้
- ได้เรียนรู้ว่า ภาษาหรือตระกูลของภาษาที่เรากำลังเรียนรู้นั้นมีวิธีการใช้แตกต่างกันอย่างไร
- ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและเข้าใจภาษาที่เรากำลังศึกษาอยู่มากขึ้น
- เป็นแนวทางในการวิเคราะห์พฤติกรรม วิธีการคิด และวิเคราะห์คนที่ใช้ภาษาที่เรากำลังศึกษา
- เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนที่เรากำลังสนทนาได้ดีและเกิดความเป็นกันเอง
ผู้อ่านลองนึกภาพตามว่า เราจะรู้สึกประทับใจแค่ไหนเมื่อเห็นชาวต่างชาติพยายามพูดภาษาไทยหรือสามารถใช้ภาษาไทยได้ และจะยิ่งประทับใจยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่า เมื่อเห็นชาวต่างชาติสามารถพูดภาษาถิ่นได้ด้วย ดังที่เราเห็นเขยอีสานหลาย ๆ คนที่ตั้งใจพูดภาษาถิ่นของภรรยาเพื่อให้สามารถเข้ากับครอบครัวของภรรยาได้ หรืออาจจะเอาใจภรรยาด้วยส่วนหนึ่ง พ่อบ้านฯ นั้นรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ชาวต่างชาติสามารถพูดภาษาถิ่นของเราได้เพราะเป็นการสื่อถึงความใส่ใจและความพยายามในการใช้ภาษาของเขา และพ่อบ้านฯ ก็เชื่อว่าการที่เราเรียนภาษาเพิ่มขึ้นนั้นเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้แก่ตนเองอีกด้วย
Credit ข้อมูล : https://www.gotoknow.org/posts/438894
Credit ภาพ : Sasin Tipchai https://pixabay.com/de/users/sasint-3639875/?tab=latest&pagi=1
Add a comment