มุ่งสู่อนาคตและควบคุมตนเองกันเถิดนะ
(comments: 0)
โดย กุหลาบ
เพราะสังคมต้องการคนดีคนเก่งและคนที่มีความสุขมาแต่ไหนแต่ไรแม้ว่านักวิชาการเจ้าทฤษฎีนักวิจัยและอีกหลายๆคนได้พยายามค้นคว้าและหาวิธีการที่จะให้ได้คนที่สังคมต้องการแต่ดูเหมือนว่าสังคมโลกจะไม่สมหวังได้โดยง่ายหากโลกของเรามีคนที่สังคมต้องการมากกว่าครึ่งโลกนี้ก็คงจะน่าอยู่มากขึ้น
สิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนดีคนเก่งและคนที่มีความสุขใครที่เป็นแฟนกีฬาเทนนิสคงรู้จักโรเจอร์เฟเดอเรอร์ (Roger Federrer) นักกีฬาเทนนิสชาวสวิสซึ่งเป็นขวัญใจของชาวสวิสและชาวโลกข้อนี้ฉันคิดว่าตัวเองไม่ได้พูดเกินจริงเพราะเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2017 ที่ผ่านมาฉันนั่งดูเทนนิสวิมเบิลดัน (Wimbledon) รอบชิงชนะเลิศ ในฐานะที่ฉันเป็นคนหนึ่งที่มีสัญชาติสวิสและเป็นแฟนคลับของโรเจอร์เฟเดอเรอร์มานานแสนนานครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราสามีภรรยาเลื่อนการเดินทางท่องเที่ยวจากที่ตั้งใจว่าจะเดินทางวันอาทิตย์มาเป็นวันจันทร์เพียงเพื่อจะชมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศนี้และโรเจอร์เฟเดอเรอร์ก็เป็นผู้ชายคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์เทนนิสรายการที่เก่าแก่ที่สุดของโลกอย่างวิมเบิลดันอันเป็นแกรนด์สแลมบนคอร์ตหญ้าถึง 8 สมัยหลังจากที่เอาชนะมารินชิลิชจากโครเอเชีย
แกรนด์แสลมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 19 ในวัยที่อายุเกือบ 36 ปี ฉันนั่งดูด้วยความปลื้มใจไปกับเขา เขาเป็นผู้ชายที่อ่อนไหวง่ายแบบน่ารักจริง ๆ เขาให้สัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่ได้ในวันนี้ เพราะเขาไม่เคยหยุดเชื่อและไม่เคยหยุดฝันว่าเขาทำได้ และก็ไม่ละความพยายามที่จะทำ” จนเป็นอย่างที่เห็นในวันนี้เวลานี้
ด้านความสามารถโรเจอร์เฟเดอเรอร์คือชื่อที่ทั้งโลกสดุดีและยกย่องให้เขาเป็นนักเทนนิสที่เก่งที่สุดในโลกเท่าที่โลกรู้จักกีฬาเทนนิสมา เขาเป็นผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้ชาวสวิสได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกที่ไม่ใช่แค่นาฬิกาและช็อกโกแลตเท่านั้นเขาเป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้รับรางวัลนักกีฬาโลกแห่งปี (Laureus World Sportsman of the Year) 4 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 - 2008 ส่วนด้านความเป็นคนดีนั้นเขาไม่เคยมีเรื่องเสียหายหรือมีข่าวไม่ดีเลย เขามีครอบครัวที่อบอุ่นตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เขาดำรงตนอยู่ในทำนองครองธรรมเงินที่มีมากมายเขาได้แบ่งปันแก่ผู้อื่นโดยก่อตั้งมูลนิธิโรเจอร์
เฟเดอเรอร์ (Roger Federer Foundation) ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 เพื่อรวบรวมทุนสำหรับการช่วยเหลือเด็กพิการ โดยเฉพาะในประเทศแอฟริกาใต้ จนในที่สุดเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตระหว่างชาติจากองค์การยูนิเซฟเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนทั่วโลก เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2006
ทำไมเขาถึงเป็นคนที่ทั้งเก่งและดีได้แบบนี้มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาเป็นเช่นนี้ มีทฤษฎีหนึ่งชื่อ “ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทย” ซึ่งเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาทฤษฎีแรกของนักศึกษาไทยที่สร้างขึ้น ผู้รวบรวมแนวคิดและเขียนเป็นทฤษฎีก็คือ ศาสตราจารย์ ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน กรอบแนวคิดที่เป็นจุดเด่นของทฤษฎีนี้เกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานและองค์ประกอบทางจิตใจซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนาเพื่อส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดีและคนเก่ง แนวคิดนี้ได้ศึกษาวิจัยถึงสาเหตุและพฤติกรรมของคนดีและคนเก่งโดยประมวลผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมต่างๆของคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 6-60 ปีว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมีสาเหตุทางจิตใจอะไรบ้างและได้นำมาประยุกต์เป็นทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทยขึ้นโดยแบ่งต้นไม้จริยธรรมออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
1. ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ดอกและผลไม้บนต้นที่แสดงถึงพฤติกรรมการที่พึงปรารถนา
2. ส่วนที่สอง ได้แก่ ส่วนลำต้นของต้นไม้ ประกอบด้วยจิตลักษณะ 5 ด้าน คือ
2.1 เหตุผลเชิงจริยธรรม
2.2 มุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง
2.3 ความเชื่ออำนาจในตน
2.4 แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
2.5 ทัศนคติคุณธรรมและค่านิยม
3. ส่วนที่สาม ได้แก่ รากของต้นไม้ ประกอบด้วยจิตลักษณะ 3 ด้าน คือ
3.1 สติปัญญา
3.2 ประสบการณ์ทางสังคม
3.3 สุขภาพจิต
ตามแนวคิดนี้จิตลักษณะทั้ง 3 ด้านที่ปรากฏอยู่ในส่วนรากของต้นไม้นั้นอาจเป็นสาเหตุของการพัฒนาจิตลักษณะ 5 ประการที่ปรากฏอยู่ในส่วนลำต้นของต้นไม้ก็ได้กล่าวคือบุคคลจะต้องมีจิตลักษณะทางจิตใจ 3 ด้านที่สูงพอเหมาะกับอายุ (วัยวุฒิ) จึงจะเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาจิตลักษณะทั้ง 5 ประการที่อยู่ในส่วนลำต้นของต้นไม้โดยที่จิตลักษณะทั้ง 5 นี้จะพัฒนาไปเองโดยอัตโนมัติถ้าบุคคลมีความพร้อมทางจิตใจทั้ง 3 ด้านและอยู่ในสภาพแวดล้อมทางบ้านโรงเรียนและสังคมที่เหมาะสมนอกจากนั้นบุคคลอาจจะมีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาจิตลักษณะบางประการใน 5 ด้านนี้ด้วยวิธีการอื่นๆด้วย อาจกล่าวได้ว่าจิตลักษณะพื้นฐาน 3 ประการที่อยู่ในส่วนรากของต้นไม้นั้นเป็นสาเหตุของพฤติกรรมของคนดีและของคนเก่งนั่นเอง
จากแนวคิดต้นไม้จริยธรรมในทฤษฎีนี้เองทำให้ฉันคิดเชื่อมโยงกับคำให้สัมภาษณ์ของโรเจอร์เฟเดอเรอร์ว่า “สิ่งที่ได้ในวันนี้เพราะเขาไม่เคยหยุดเชื่อและไม่เคยหยุดฝันว่าเขาทำได้และก็ไม่ละความพยายามที่จะทำ” สอดคล้องกับจิตลักษณะในส่วนที่สองหรือลำต้นของต้นไม้ข้อที่ว่านั่นคือ “มุ่งอนาคตและการควบคุมตน” และ “การเชื่ออำนาจในตน”
การมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเป็นทัศนคติที่เรามีต่อความสามารถของตัวเองในการที่จะควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเราเเละคนรอบข้าง ซึ่งสามารถวัดค่านี้เป็นค่าระดับจากน้อยไปหามากได้ตามข้อคำถามในแบบสอบถามที่ได้เคยเห็นกันมา โดยคนที่มีลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนน้อยเป็นคนที่เชื่ออำนาจนอกตัวเองมักจะคิดว่าทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาเเละคนรอบข้างนั้นเกิดขึ้นเพราะ “โชคชะตา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหรือเรื่องร้ายก็ตาม ในทางตรงกันข้ามคนที่มีลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนสูงมักจะคิดว่าทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาเเละคนรอบข้างเกิดขึ้นเพราะ “การกระทำ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหรือเรื่องร้ายล้วนมาจากการกระทำของเขาทั้งสิ้น
เหตุใดเรื่อง “มุ่งอนาคตและการควบคุมตนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญนั่นก็เพราะว่าคนที่เชื่ออำนาจนอกตัวเเละคนที่เชื่ออำนาจในตนนั้นมักจะมีทัศนคติเเละพฤติกรรมที่เเตกต่างกันเวลาที่พวกเขามีประสบการณ์ชีวิตที่เหมือนๆกันยกตัวอย่างเช่นเรื่องการเรียนสมมติว่ามีเด็กอยู่สองคนเด็กสองคนนี้มีความสามารถที่เหมือนกันเเต่คนหนึ่งมีความเชื่ออำนาจในตนเองส่วนอีกคนหนึ่งมีความเชื่ออำนาจนอกตนเอง คนที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองจะบอกตัวเองว่า “คนเราสามารถเปลี่ยนอนาคตของตัวเองได้ถ้าเรามีความพยายาม” ส่วนคนที่มีความเชื่ออำนาจนอกตนเองจะบอกตัวเองว่า “คนเราไม่สามารถเปลี่ยนอนาคตตัวเองได้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโชคชะตามากกว่า” เพราะฉะนั้นคนที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองก็จะพยายามมากกว่าคนที่มีความเชื่ออำนาจนอกตนเองโอกาสที่คนมีความเชื่อในตนเองจะมีผลการเรียนที่ดีกว่าคนที่เชื่ออำนาจนอกตนเองจึงมีมากกว่าเพราะคนจำพวกแรกมีความพยายามมากกว่าข้อนี้ฉันสามารถยืนยันได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเองเพราะเป็นคนที่ไม่ได้หัวดีเท่าไรนักแต่มีความพยายามสูง
ผลการวิจัยนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ด้วยโดยพบว่าคนที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองสูงนั้นมักจะขยันหางานในเวลาที่ตกงานมากกว่าคนที่มีความเชื่ออำนาจนอกตนเองมากเพราะพวกเขาเชื่อว่ายิ่งขยันหางานยิ่งเพิ่มโอกาสในการมีงานใหม่ทำ งานวิจัยของดร.ณัฐวุฒิเผ่าทวีดร. เนื้อเเพรเล็กเฟื่องอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเเละคณะวิจัยยังพบอีกว่าแม่ที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองมากมักจะใช้เวลาในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนานกว่าสอนหนังสือให้แก่ลูกมากกว่าเเม่ที่มีความเชื่ออำนาจนอกตนเองแม้ว่าแม่เหล่านี้จะมีการศึกษาในระดับพอๆกันก็ตามการกระทำดังกล่าวทำให้ลูกของคุณเเม่ที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองเรียนดีกว่าลูกของแม่ที่มีความเชื่ออำนาจนอกตนเอง
ยิ่งไปกว่านั้นการวิจัยยังพบว่าคนที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองยังออกกำลังกายมากกว่า รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เเละในเวลาที่พวกเขาพบเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต พวกเขาก็ยังปรับตัวเร็วกว่าคนที่มีความเชื่ออำนาจนอกตนเองอีกด้วย
อะไรเป็นตัวเเปรของลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง
ค่าของลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเองไม่ค่อยจะเปลี่ยนตามกาลเวลาสักเท่าไรนักกล่าวคือถ้าคุณเป็นคนที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองมากคุณก็จะเป็นอย่างนั้นเกือบทั้งชีวิตเเต่ค่าของลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนนั้นสามารถปรับตัวขึ้นลงได้มากที่สุดตอนที่เรายังเป็นเด็กอยู่ (ก่อนอายุ 12-15 ปี ) ซึ่งหมายความว่าเราสามารถปลูกฝังการมีลักษณะเชื่ออำนาจในตนเองในขณะที่ลูกหลานยังเป็นเด็กอยู่ได้ เเละการปลูกฝังการมีความเชื่ออำนาจในตนเองที่ดีที่สุดก็คือการทำให้เด็กรู้ว่าทุกๆอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขาเป็นสิ่งที่อยู่ในกำมือของตัวเขาเองเช่นการฝึกเขาทำอะไรด้วยตนเองไม่ว่าจะผลลัพธ์จะดีหรือไม่ดีก็ตามเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ ถ้าไม่ดีเขาก็ต้องหาทางแก้ไขให้ดีขึ้นโดยมีพ่อแม่ผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยเหลือและแนะนำเป็นต้น
ตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเองนั้นมีความสำคัญที่ควรจะปลูกฝังให้เกิดมีในตัวบุคคลและการจะทำให้มีขึ้นได้นั้นก็ต้องมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลายกตัวอย่างเช่นโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสระดับโลกคนนี้กว่าเขาจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวันนี้ได้เขาต้องเคี่ยวกรำตัวเองให้มีลักษณะที่ว่ามานี้แค่ไหนเขาต้องฝึกซ้อมต้องให้เวลาต้องทุ่มเทและพยายามต้องควบคุมตนเองให้มีวินัยและสำคัญที่สุดคือต้องเชื่อว่าตัวเองนั้นทำได้ ใครที่ต้องการเห็นลูกหลานของตนเก่งและดี แม้อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเป็นแบบโรเจอร์เฟเดอเรอร์ก็ตามลองนำจิตลักษณะด้านต่างๆในทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมนี้ไปใช้ฝึกจิตใจให้แก่ลูกหลานกันนะคะ
ที่มา: หนังสือ “ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมการวิจัยและการพัฒนาบุคคล” ภายใต้โครงการส่งเสริมเอกสารวิชาการของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ,2543
https://thaipublica.org/2017/06/nattavudh-66/
Add a comment