ว่าด้วยเรื่องความฟุ่มเฟือยในการใช้ภาษา
(comments: 0)
ว่าด้วยเรื่องความฟุ่มเฟือยในการใช้ภาษา
สุรีรัตน์ ณิชาพัฒน์
ทุกเช้าวันทำงานผู้เขียนมักจะเปิดโทรทัศน์เพื่อฟังข่าวสารระหว่างที่กำลังแต่งตัวไปทำงาน รายการข่าวในเมืองไทยนั้นมีลักษณะคล้าย ๆ กันก็คือผู้รายงานข่าวจะเป็นคนเล่าข่าว(ผู้เขียนขอใช้คำว่า “เล่าข่าว” เพราะปัจจุบันผู้ประกาศข่าวเน้นการเล่าเรื่องต่างกับในอดีตที่เน้นการอ่านตามบท)น้ำเสียง ลีลาการเล่าเรื่องและการเติมข้อความเข้าไปในขณะที่เล่าข่าวนั้นทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนกับว่ามีคนมาเล่าเหตุการณ์จริงให้ฟัง โดยมุ่งหวังให้ผู้ฟังเห็นภาพและมีอารมณ์ร่วมตามถ้อยคำและน้ำเสียงของผู้เล่าได้มากกว่าการรายงานข่าวในอดีต แต่การรายงานข่าวลักษณะนี้ผู้รายงานมักจะพูดเติมคำหรือกลุ่มคำที่ฟุ่มเฟือยเข้าไปมาก จนหลายครั้งผู้เขียนก็รู้สึกนึกรำคาญอยู่เหมือนกัน
ผู้อ่านลองสังเกตตัวอย่างข่าวต่อไปนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมกำลังกันเข้าทำการตรวจค้นสถานบันเทิงที่ทำการเปิดเกินเวลาหลังจากที่ชาวบ้านที่มีการอาศัยอยู่ในละแวกบริเวณใกล้ ๆ นั้นมีการร้องเรียนเข้ามายังรายการข่าวXXXเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการจับกุมนายXXXซึ่งมีการทราบผลภายหลังว่าเขาไม่ใช่เจ้าของกิจการแต่เป็นเพียงผู้จัดการร้านที่ดูแลร้านเท่านั้น ผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่ที่นั่นรายงานว่าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการเข้าจับกุมนายXXXนายXXXมีความพยายามหลบหนีออกทางหลังร้านแต่ในที่สุดตำรวจก็ทำการรวบตัวเอาไว้ได้เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการแสดงตัวเข้าตรวจค้น นักท่องราตรีที่มาเที่ยวกลางคืนก็วิ่งหนีกันชุลมุนและวุ่นวาย มีนักเที่ยวซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง18ปีจำนวนมากมาใช้บริการด้วย ตำรวจได้ทำการเก็บประวัติและได้มีการตรวจปัสสาวะนักเที่ยวเอาไว้ทุกคน และได้มีการประสานให้ผู้ปกครองของเยาวชนมาที่สถานีตำรวจพื้นที่ที่เกิดเหตุ ส่วนนาย XXXก็ยังคงไม่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่โดยปฏิเสธว่าไม่มีส่วนในการรู้เห็นกับการเปิดทำการสถานบันเทิงเกินเวลา คดีนี้นับเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมากเพราะชาวบ้านมีการร้องเรียนออกมาอยู่หลายครั้งและน่าจะเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ด้วย หากมีข่าวคืบหน้าอะไรที่เพิ่มเติมในเรื่องนี้ทางข่าวXXXจะได้มีการนำเสนอต่อไปค่ะ
ถ้าเราฟังข่าวและดูภาพประกอบไปด้วยก็คงไม่ค่อยรู้สึกว่ามีคำหรือกลุ่มคำที่เกินมาจำนวนมากหรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าฟังแล้วแปลก ๆ แต่ถ้าเรารับสารด้วยการอ่านอาจจะรู้สึกแปลกมากกว่าการฟัง
ในข่าวนี้มีคำหรือกลุ่มคำอะไรที่ฟุ่มเฟือยบ้าง ลองมาดูกัน
ถ้าสังเกตข่าวนี้จะเห็นกลุ่มคำที่ใช้หน้าคำกริยาอยู่สามกลุ่มคำ ได้แก่ ทำการ มีการ มีความ และให้ความ เช่น ทำการตรวจค้น ทำการเปิด ทำการเข้าจับกุม ทำการรวบตัว ทำการแสดงตัว มีการอาศัย มีการร้องเรียน มีการตรวจปัสสาวะ มีการประสาน มีความพยายาม มีการนำเสนอ ไม่ให้ความร่วมมือ และให้ความสนใจ
การใช้กลุ่มคำนี้นำหน้ากริยาเช่นนี้เป็นการใช้ที่นับวันจะพบมากขึ้น อย่างไรก็ดีลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เป็นปัญหาที่เพิ่งพบในปัจจุบัน พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ได้ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ในหนังสือพิมพ์ประมวญวัน ฉบับวันที่ 4มิถุนายน พ.ศ. 2479 ความว่า
สงสารคำ “ทำการ”มานานแล้วดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ
มันถูกใช้หลายอย่างไม่วางมือแต่ละมื้อตรำตรากยากเต็มที
ตำรวจเห็นโจรหาญ “ทำการจับ”โจรมันกลับวิ่งทะยาน “ทำการหนี”
“ทำการเป็นลม” ล้มพอดี“ทำการซี้” จีนหมายว่าตายเอย
ลักษณะการใช้ภาษาเช่นนี้เรียกว่าการใช้คำฟุ่มเฟือย ส่วนการแก้ไขนั้นง่ายมากก็คือให้ตัดกลุ่มคำที่นำหน้าคำกริยาออกไป เพราะกลุ่มคำที่เติมหน้ากริยานี้ไม่มีประโยชน์ต่อความหมายของประโยคและไม่มีประโยชน์ต่อการสื่อสารเลย ตรงกันข้ามกลับทำให้เสียเวลาพูด เสียเวลาอ่าน และเสียพื้นที่ในการเขียนอีกด้วย
นอกจากกลุ่มคำที่ยกมานี้ในข่าวยังมีตัวอย่างการใช้คำฟุ่มเฟือยอีกลักษณะหนึ่งนั่นคือการใช้คำที่มีความหมายซ้ำกันโดยไม่จำเป็น ได้แก่ ชาวบ้านที่มีการอาศัยอยู่ในละแวกบริเวณใกล้ ๆ.....วิ่งหนีกันชุลมุนและวุ่นวาย.....เยาวชนที่มีอายุไม่ถึง18ปีบางคนแย้งว่าการนำเสนอข่าวนั้นผู้รายงานจะต้องเล่าให้ผู้ฟังเห็นภาพตามโดยละเอียด ดังนั้นอาจต้องขยายความกันบ้าง
เรื่องนี้ผู้เขียนก็พอเข้าใจได้อยู่ว่า รายการข่าวลักษณะนี้มักเป็นรายการสด การพูดโดยฉับพลันอาจทำให้ผู้ประกาศละเลยการใช้ภาษาที่กระชับรัดกุมไปได้(นี่ไม่รวมการเล่าเรื่องซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่จำเป็น บางข่าวผู้รายงานเล่าไปแล้วก็ทวนซ้ำอีกสองรอบ นี่ยังไม่รวมการบรรยายภาพอีก)
แล้วคำว่า “ประหยัด” และ “ฟุ่มเฟือย” นั้นตกลงเราวัดกันที่อะไร ศาสตราจารย์กิตติคุณ ปรีชา
ช้างขวัญยืนได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
คนทั่วไปมักตีความคำว่าประหยัดว่าใช้น้อย การประหยัดถ้อยคำจึงแปลกันว่าใช้คำน้อย บังเอิญเราไม่มีคำว่า ตระหนี่ถ้อยคำหรือใช้ถ้อยคำอย่างตระหนี่ จึงไม่เห็นว่าการใช้ถ้อยคำน้อยเกินไปอาจทำให้ขาดรายละเอียดและเข้าใจไม่แจ่มแจ้งก็ได้.....การประหยัดถ้อยคำควรหมายถึงการใช้คำเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สื่อสารได้ครบถ้วนตามประสงค์ นั่นคือเอาความประสงค์ในการใช้ภาษาแต่ละครั้งเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ เมื่อใช้เกณฑ์นี้แล้วจะเห็นว่าการประหยัดในการใช้ภาษาแต่ละแบบไม่เหมือนกัน.....การอธิบายทางวิทยาศาสตร์อาจใช้คำที่เป็นศัพท์เฉพาะมากกว่าการบรรยายรายละเอียดมาก ๆ เว้นแต่เมื่ออธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์แก่คนทั่วไป การอธิบายขยายความศัพท์แต่ละคำแต่ละขั้นตอนก็เป็นสิ่งจำเป็นและต้องใช้คำมาก
วิธีการส่งสารก็มีส่วนทำให้เราอาจใช้คำที่มีความหมายฟุ่มเฟือยได้ ในการพูดผู้พูดอาจพูดขยายความอย่างยาวยืดได้ในกรณีที่ผู้ฟังไม่เข้าใจหรือต้องการการอธิบายซ้ำ(เหมือนกับที่แม่บ่นเวลาที่เราทำผิด)แต่ผู้ใช้ภาษาก็ควรระมัดระวังโดยเฉพาะผู้ใช้ที่เป็นคนของสังคม เช่น สื่อมวลชน ส่วนภาษาเขียนนั้นผู้เขียนมีเวลาตรวจทานความคิดและการเขียนมากกว่าการพูด ผู้ใช้จึงยิ่งต้องเขียนข้อความอย่างรอบคอบ ระวังอย่าใช้ภาษาที่ฟุ่มเฟือย
การสร้างความประหยัดทางภาษาจะทำให้ผู้อ่านรับสารได้อย่างชัดเจนและครบถ้วนโดยไม่เสียเวลาอ่าน เช่นนี้จึงนับเป็นการประหยัดที่ได้ผลทั้งเรื่องการสื่อสารและเวลาไปในคราวเดียวกัน
Add a comment