ดูแลเส้นผมอย่างไรให้มีสุขภาพดี
(comments: 0)
ระยะการเจริญเติบโตของเส้นผมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะการเจริญเติบโต หรือ Anagen Phase คือระยะที่ต่อมรากผมจะอยู่ลึกที่สุดในชั้นหนังแท้ โดยมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มากมาย และจะใช้เวลาประมาณ 1,000 วัน หรือ 3 ปี ในการเจริญเติบโตเป็นเส้นผม ซึ่งประมาณ 85-90% ของเส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้
- ระยะหยุดการเจริญเติบโต หรือ Catagen Phase คือ ระยะหยุดการเจริญเติบโต ต่อมรากผมจะหยุดการแบ่งเซลล์ แต่ต่อมรากผมจะมีการค่อย ๆ เลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
- ระยะพัก หรือ Telogen Phase ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของเส้นผม เมื่อต่อมรากผมเลื่อนสูงขึ้นจนถึงบริเวณของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) แล้ว ผมของคนเราก็จะเข้าสู่ ระยะพัก ซึ่งจะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ ประมาณ 100 วัน หรือ 3 เดือน ทั้งนี้ 10% ของเส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะพักนี้ ก่อนที่เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) จะส่งสัญญาณให้ต่อมผมเลื่อนลงมาอีกครั้งเพื่อให้มีการสร้างผมใหม่ โดยเส้นผมใหม่ที่สร้างขึ้นจะดันผมเก่าให้หลุดร่วงไป
ปัญหาของ “ผม”
- ปัญหาของ “ผม” เกิดขึ้นได้ทุกฤดู โดยเฉพาะความร้อนจากแสงแดดอาจกระตุ้นให้ “ผม” มันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียและยีสต์ เจริญอาหารมันนี้จนทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่น หรืออาจทำให้เป็นโรคที่หนังศีรษะ
- ผมหงอกก่อนวัยเกิดขึ้นจากพันธุกรรมและกรรมพันธุ์ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความเครียด สารเคมี การสูบบุหรี่ การใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีภาวะผมร่วงมากขึ้น บางครั้งอาจร่วงมากถึง 200 เส้นต่อวัน นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้นนอกจากผมจะหงอกแล้ว ก็ยังจะเหี่ยวได้เหมือนกัน เพราะเปลือกผมจะเป็นริ้วรอยจากการเสียดสีของหวี ดังนั้น ยิ่งหวีผมมากเท่าไหร่ ผมยิ่ง “เหี่ยว” มากขึ้นเท่านั้น
- ความร้อนและสารเคมีที่เราใช้กับเส้นผม เช่น การรีดผมหรือดัดผม เป็นตัวการสำคัญทำให้เปลือกผมเป็นริ้วรอยมากขึ้น ทำให้ระยะการเจริญเติบโตของผมสั้นลง จำนวนเส้นผมจะน้อยลงอย่างน้อย ๆ 10 เปอร์เซ็นต์และในทุกช่วงอายุ 10 ปี ขนาดของเส้นผมจะเล็กลง
- คนที่มีรังแคเยอะ และคันศีรษะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นโรค Seborrheic Dermatitis ภาษาไทยเรียกสั้น ๆ ว่าโรค “เซ็บเดิร์ม” ซึ่งเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรค จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า อาจจะเกิดจากการที่หนังศีรษะมียีสต์ที่ชื่อ Malassezia furfur มากกว่าปกติ ทำให้มีการสร้างสารก่อให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง จึงเกิดเป็นผื่นคันดังกล่าว หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น ตากแดดหรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือหนังศีรษะอาจแห้งคันมากขึ้นในฤดูหนาว หรือเกิดจากความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีโรคประจำตัว เช่น พาร์กินสัน หรือการรับประทานยาบางบางชนิด (เช่น ยากันชัก ยา cimetidine ที่ใช้รักษาโรคกระเพาะ อาจทำให้มีโอกาสเกิดโรค "เซ็บเดิร์ม" นี้มากขึ้นเช่นกัน) แม้จะยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงได้ แต่มีคนไข้ที่เป็นโรคนี้กันมากในหน้าร้อนและหน้าหนาว อาการของโรค “เซ็บเดิร์ม” คือ มีอาการคันที่หนังศีรษะ ผิวหนังเป็นผื่นแดง ตุ่มคัน หรือ หนังศีรษะนูนหนา มีรังแค ล้วนเป็นอาการของ “เซ็บเดิร์ม” ทั้งสิ้น นอกจากนี้ โรค "เซ็บเดิร์ม" อาจมีอาการคล้ายกับโรคสะเก็ดเงินได้ (แต่โรคสะเก็ดเงินจะมีผื่นแดงมากกว่า ผื่นหนากว่าและมีสะเก็ดมากกว่า) โดยปกติโรค "เซ็บเดิร์ม" ส่วนใหญ่ไม่ทำให้ “ผม” ร่วง นอกจากเป็นเยอะมากจริง ๆ
การรักษาโรค “เซ็บเดิร์ม” ควรหลีกเลี่ยงความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอลล์จะยิ่งไปกระตุ้นให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และควรใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบของ Ketoconazole, Tar, Salicylic acid, หรือ Ciclopiroxolamine อาจช่วยให้อาการคันหนังศีรษะและรังแคลดลง ในคนที่มีอาการมาก อาจใช้ยาโลชั่นที่มีส่วนประกอบของยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มักไม่หายขาด ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเท่าที่เป็นไปได้ และทายาและ/หรือสระผมด้วยแชมพูที่ผสมตัวยาดังกล่าว เพื่อทำให้อาการดีขึ้นและทำให้โรคอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้จะดีกว่า
การดูแลเส้นผมที่ถูกวิธี
- ควรมีการบำรุงด้วยครีมนวดผม ไม่ควรทำการรีดผม ดัดผม หรือย้อมผมบ่อยเกินไป ควรเลือกสีย้อมผมตามธรรมชาติ แต่ก็จะมีข้อเสียคือ จะติดไม่ทนเท่ายาย้อมผมประเภทสารเคมี สำหรับคนที่มีปัญหาผมร่วงเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์ โดยแนวทางการรักษานั้น แพทย์จะให้คำปรึกษาและรักษาด้วยการทายาและรับประทานยาใน 1 ปีแรก หากยังไม่ได้ผลก็จะรักษาด้วยการปลูกถ่ายเส้นผม ซึ่งมีหลากหลายวิธีให้เลือกในปัจจุบัน
- ต้องทานอาหารที่มี “ธาตุเหล็ก” ให้เพียงพอ เช่น ผักใบเขียว เนื้อแดงหรือเครื่องในสัตว์ (แต่อย่ารับประทานมากจนเกินไป ควรทานแต่พอดี) ซึ่งถ้าร่างกายเรามีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ “ผม” เราก็จะเริ่มเปราะบาง และหลุดร่วงง่ายค่ะ โดยปกติแล้ว “ผม” ของเราจะร่วงวันละประมาณ 50-100 เส้น แต่วันที่สระผมอาจร่วงมากหน่อย คือ 100-200 เส้น
- ควรเลือกใช้แชมพูยี่ห้อที่เราใช้แล้วไม่คัน ไม่ระคายเคือง หากอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อนก็ไม่ควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมน้ำมันเยอะ ๆ เพราะจะไปกระตุ้นให้แบคทีเรีย หรือ ยีสต์ มาเยี่ยมเยียนมากขึ้น ทั้งนี้แชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันอาจเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือคนที่มีหนังศีรษะแห้งหรือผมที่แห้งมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน: พษมลวรรณ เกริกสุวรรณชัย
Add a comment