D-เอ็กคลูซีพ- แนะนําคู่มือ “การบริหารจัดการ”
(comments: 0)
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามี สมาคม กลุ่ม และชมรมไทยเกิดขึ้นหลากหลายในเยอรมนี ในแต่ละสมาคมจะมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยทํางานตามโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายหลักคือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เมื่อพิจารณาการทํางานของสมาคม กลุ่ม และชมรมไทยในเยอรมนีจะพบว่า การทำงานมักจะซ้ำ ๆ เหมือนเลียนแบบกัน ไม่มีแนวคิดและเป้าหมายในการทํางานที่ชัดเจน การทำงานยังไม่เป็นระบบ และขาดความต่อเนื่อง ไม่มีการพัฒนาหาแนวทางของตนเอง บ่อยครั้งการทํางานไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า อาสาสมัครไทยยังขาดความรู้ และทักษะในการทํางานร่วมกันภายในกลุ่ม ด้วยเห็นปัญหาดังกล่าว สมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการแก่อาสาสมัครไทย หัวข้อ “เจาะลึกการบริหารจัดการสมาคมและองค์การ” เมื่อวันที่ 9 - 11 มิถุนายน 2560 ที่ Frankfurt am Main และได้รวบรวมเนื้อหาจากการอบรมจัดทำคู่มือ “การบริหารจัดการ” เพื่อให้อาสาสมัครไทยสามารถหยิบมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้เมื่อต้องการ
คู่มือ “การบริหารจัดการ” ประกอบด้วยเนื้อหา 4 ส่วนหลัก ๆ
1. แนวคิด และรูปแบบของการรวมกลุ่ม ซึ่งสรุปจากประสบการณ์ของสมาชิกกลุ่ม ชมรม และสมาคมไทยที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ตามมาด้วยความหมายของคำว่า กลุ่ม องค์ประกอบ และโครงสร้างของกลุ่ม รวมทั้งประโยชน์ของการมี กลุ่ม นอกจากนี้ได้นำเสนอรูปแบบของกลุ่มที่เป็นทางการในเยอรมนี ตลอดจนข้อดี และด้อยของรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อเป็นแนวทางว่า กลุ่มคนไทยสามารถรวมกันเป็นกลุ่มทางการตามรูปแบบของเยอรมนีอย่างไรบ้าง
2. หลักการบริหารจัดการองค์การ แม้นเนื้อหาจะเป็นหลักการ/วิธีการที่ใช้ในองค์การ แต่เมื่อกลุ่ม สมาคม หรือชมรมของคนไทยที่มีคนหลายคนมาทำงานด้วยกัน หลักการ/วิธีการเหล่านี้ ก็สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินงานได้เพื่อให้กิจกรรมที่ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะในส่วนของหลักการ/กระบวนการบริหารจัดการองค์การ POSDCORB ที่เปรียบเหมือนหัวใจของการบริหารจัดการเลยทีเดียว
3. เทคนิคการทำงานกลุ่ม ประกอบด้วย วัฒนธรรมการทำงานเป็นกลุ่ม (Teamkultur) นำเสนอโมเดล “นาฬิกาทีมของทัคแมน” แบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจนสำหรับการนำไปใช้ อีกเทคนิคหนึ่งของการทำงานกลุ่ม คือการทำบัญชีของสมาคมที่จดทะเบียน และได้รับการรับรองเป็นสมาคมที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร อันเป็นงานที่สำคัญและต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการจัดทำ อย่างไรก็ตามหลักการทำบัญชีเหล่านี้ กลุ่ม ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็สามารถปรับบางส่วนมาใช้ หรือเรียนรู้ไว้เพื่อการทำงานในอนาคตก็ได้
4. การจัดการความขัดแย้ง การทำงานของคนหมู่มาก บ่อยครั้งอาจเกิดความขัดแย้งในหมู่คนทำงาน เพื่อรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น หรือกำลังครุกรุ่นอยู่ในกลุ่ม คู่มือ “การบริหารจัดการ” นำเสนอประเด็น ความขัดแย้ง และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง อันเป็นมุมมองของนักดนตรีบำบัด
--------
สารบัญ
กว่าจะเป็นสมาคม และองค์การ: แนวคิดและรูปแบบ
การเกิดขึ้นของกลุ่ม ในมุมมองของชมรม สมาคมไทยในต่างแดน
กลุ่มคืออะไร
รูปแบบของกลุ่มทางการในเยอรมนี
การบริหารจัดการองค์การ
องค์การ: ความหมาย องค์ประกอบ และโครงสร้าง
รูปแบบขององค์การ
การบริหารจัดการองค์การคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
หลักการ/ กระบวนการบริหารจัดการองค์การ POSDCORB
ขั้นตอนของการจัดการองค์การ
เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการองค์การ
บทสรุปสำหรับกลุ่มคนไทยในเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ
วัฒนธรรมการทำงานเป็นกลุ่ม (Teamkultur)
กว่าจะทำงานเป็นทีมได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
การสร้างทีมจากโมเดล “นาฬิกาทีมของทัคแมน” (Die Teamuhr nach Tuckman)”
การบัญชีของสมาคมที่ดำเนินกิจการไม่แสวงหากำไร(ประเทศเยอรมนี)
คำจำกัดความที่พึงรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีสมาคม
การทำบัญชี (Buchhaltung)
การยื่นแบบแสดงการเสียภาษี (Steuererklärung) และหนังสือรับรองการยกเว้นการเสียภาษีอากร (Freistellungsbescheid)
การจัดการความขัดแย้ง: ผ่านมุมมองทางดนตรีบำบัด
Harmonie vs Disharmonie
ประเภทของความขัดแย้ง
พัฒนาการระยะต่าง ๆ ของความขัดแย้ง
รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง
"วิจารณ์" อย่างไรไม่ให้ "วินาศ"
ผู้ที่สนใจ คู่มือ “การบริหารจัดการ” สามารถติดต่อได้ที่ naruemol@d-magazine.de
Add a comment