D - เอ็กคลูซีพ- อาชีพยอดฮิตในเยอรมนี
(comments: 0)
D - เอ็กคลูซีพ- อาชีพยอดฮิตในเยอรมนี
โดย ดี²
ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้ประชากรมีทักษะในการทำงานและมีอาชีพเฉพาะทาง ดังนั้นระบบการศึกษาของเยอรมัน จึงค่อนข้างจะเน้นสายอาชีพเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันพบว่าการเรียนสายอาชีพต่าง ๆ (Ausbildungsberufe) ในเยอรมนีมีมากถึง 328 อาชีพ บางอาชีพก็มีคนเรียนเยอะมาก บางอาชีพก็แทบจะไม่มีเลย เว็บไซต์ AZUBI.de ได้รวบรวมข้อมูลอาชีพที่มีผู้เลือกเรียนมากที่สุดในปีการศึกษา 2017 เหตุผลที่ผู้เลือกอาชีพเหล่านั้นให้เป็น”อย่างที่สุด”ก็คือ เป็นอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนมากที่สุดในช่วงเรียน ( bestbezahlte Ausbidlungsberufe) และเมื่อเรียนจบแล้วจะมีโอกาสหางานได้อย่างแน่นอน (sichere Anstellungschancen) มาดูกันว่า สายอาชีพยอดฮิตในปีการศึกษา 2017 มีอาชีพอะไรบ้าง
16 อาชีพยอดฮิตที่ได้รับค่าตอบแทนในช่วงเรียนมากที่สุด (ปี 2017)
- เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ (Fluglotse/in)
- นักเดินเรือน่านน้ำภายในผู้ชำนาญการเรือ (Binnenschiffer/in)
- ช่างเทคนิคหรือช่างซ่อมบำรุงเรือ (Schiffsmechaniker/in)
- นักธุรกิจด้านการประกันภัยและการเงิน(Kaufmann/frau für Versicherungen und Finanzen)
- นักการธนาคาร (Bankkaufmann/frau)
- ช่างคอนกรีตและคอนกรีตเสริมเหล็ก (Beton- und Stahlbetonbauer/in)
- ผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการด้านการผลิต พัฒนา และตรวจสอบสี(Lacklaborant/in)
- ช่างประกอบและเชื่อมระบบสายไฟ(Mechatroniker/in)
- ช่างกลอุตสาหกรรม(Industriemechaniker/in)
- นักวางแผนจัดระบบด้านเทคนิค(Technischer Systemplaner/in)
- ผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการฟิสิกส์(Physiklaborant/in)
- เจ้าพนักงานตำรวจ(Polizeivollzugsbeamter/beamtin)
- ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ(Fachinformatiker/in)
- ช่างฉาบ(Stuckateur/in)
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ(Verwaltungsfachangestelle/r)
- ช่างก่อสร้าง และงานปูน(Maurer/in)
17 อาชีพที่คาดว่าจะมีคนเรียนมากที่สุดในปี 2018
อาชีพสาขาเทคนิค (Technischer Bereich)
เชื่อว่า อาชีพวิศวกรจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจได้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา การใช้ และการซ่อมแซมเครื่องจักรกล (Maschinen)มากขึ้น อาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานในอนาคต คือ
- ช่างไฟฟ้าสำหรับการเทคนิคในโรงงาน (Elektroniker/in für Betriebstechnik)
- ช่างประกอบและเชื่อมระบบสายไฟ(Mechatroniker/in)
- นักวางแผนจัดระบบด้านเทคนิค(Technische/r Systemplaner/in)
อาชีพสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT-Brachen)
ในปีหน้า งานด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลต่าง ๆ (Datensicherheit) ยังมีบทบาทสำคัญต่อบริษัทต่าง ๆ อาชีพที่ต้องการในตลาดแรงงานในอนาคต คือ
- ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที)(Fachinformatiker/in)
- นักธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)(Informatikkaufmann/frau)
- นักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านคณิตศาสตร์และเทคนิค(Mathematisch-technische/r Softwareentwickler/in)
อาชีพสาขาการค้า/ธุรกิจ(kaufmännischer Bereich)
อาชีพสาขานี้เป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้ลงทุนและบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากการค้าขายเกี่ยวข้องกับงานหลายแขนง และที่สำคัญคือ ผู้ลงทุนและบริษัทต่าง ๆ มีความต้องการ ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องธุรกิจ (kaufmännisches Wisse) มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการประสานงานระหว่างบริษัทกับลูกค้าได้ อาชีพที่ต้องการในตลาดแรงงานในอนาคต คือ
- นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรม(Industriekaufmann)
- นักจัดการและบริหารสำนักงาน(Kaufmann/frau für Büromanagement)
- นักธุรกิจสำหรับการค้าส่งและการค้าระหว่างประเทศและ(Kaufmann/frau im Groß und Außenhandel)
อาชีพด้านผลิตภัณฑ์เคมี( chemische Produktion)
เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงอาหารและยารักษาโรค (Nahrungsmitteln und Medikamenten) อาชีพที่ต้องการในตลาดแรงงานในอนาคต คือ
- ผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการเคมี (Chemielaborant/in)
- นักเทคนิคด้านโภชนาการ (Lebensmitteltechniker/in)
- เภสัชกร(Pharmakant/in)
อาชีพด้านการแพทย์ (medizinischer Bereich)
อาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอาชีพที่ทั่วโลกต้องการ
- ผู้บริบาลผู้สูงวัย(Altenpfleger/in)
- ช่างเทคนิคทันตกรรม (Zahntechniker/in)
- นักทัศนมาตร(Augenoptiker/in)
- นักโสตสัมผัสวิทยา(Hörakustiker/in)
- ผู้บริบาลสุขภาพและการพยาบาล(Gesundheits- und Krankenpfleger/in)
ใครมีลูก มีหลานที่กำลังมองหาโรงเรียนอาชีวศึกษา หรือตัวคุณเองกำลังคิดจะเรียนสายอาชีพในเยอรมนี ขอแนะนำให้อ่านข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมของการสมัคร ได้ที่
https://www.azubi.de/beruf/tipps/liste-beste-ausbildungsberufe
คนไทยในประเทศเยอรมนีประกอบอาชีพอะไรบ้าง
ดังที่ทราบกันแล้วว่าคนต่างชาติที่ต้องการเรียนสายอาชีพต่างๆในเยอรมนีจะต้องมีหลักฐานการจบการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนดและมีหลักฐานความรู้ภาษาเยอรมันอย่างน้อยระดับ B2 คนไทยหลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากและใช้เวลานานเกินไปในการเรียน จึงเลือกทำงานและประกอบกิจการประเภทอิสระโดยเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นลูกจ้างในกิจการของคนไทยด้วยกันเช่นทำงานในร้านอาหารไทยและร้านนวดไทยเป็นต้น แต่ก็มีคนไทยในเยอรมนีหลายคนที่คิดว่าการที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนสายอาชีพเพื่ออนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง
ดี² มีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทย 9 คน ซึ่งมีอาชีพแตกต่างกันไป ทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะยังมีคนไทยอีกหลายคนที่มีอาชีพ 1 ใน 328 อาชีพของเยอรมันอย่างแน่นอน
พนักงานเก็บขยะ(Müllwerker)
ผมชื่อ วีระศักดิ์ ทรงงาม ชื่อเล่นชื่อโจ ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานเก็บขยะ ทำงานอาชีพนี้มาได้ 7 เดือนแล้วครับ ผมเข้าทำงานอาชีพนี้โดยผ่านบริษัทจัดหาคนงานให้ไปทำงานในบริษัทอื่นๆ( Leihfirma) ตอนที่ได้งานนี้ ผมคิดว่าเป็นงานท้าทายและน่าสนใจ แม้ว่าอาชีพนี้มักจะถูกมองจากบางคนว่า เป็นอาชีพต่ำต้อยและเป็นงานสกปรก บางคนก็ถึงกับรังเกียจคนที่ประกอบอาชีพนี้ไปด้วยก็มีนะครับ แต่สำหรับผม ผมคิดว่าอาชีพนี้ไม่น่ารังเกียจ แต่กลับได้รับการสนใจและชื่นชมจากหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ เวลาที่ไปเก็บขยะที่โรงเรียนและโรงเรียนอนุบาล เด็ก ๆ จะเลิกเล่น แล้ววิ่งมาเกาะรั้วดูพวกผมทำงานอย่างสนใจ เด็ก ๆ ให้ความสนใจและมีคำถามมากมาย เช่น หนาวไหม เหนื่อยไหม เหม็นไหม อันตรายไหม ฯลฯ พอผมโหนตัวขึ้นยืนท้ายรถ เด็กจ้องดูอย่างไม่กระพริบตาเลยครับ แล้วก็โบกมือบ๊ายบาย บ่อยครั้งผมรู้สึกเหมือนว่า พนักงานเก็บขยะเป็นฮีโร่ของเด็ก ๆ เลยนะครับ(หัวเราะ)
ปัญหาในการทำงานก็มีบ้างครับ เพราะว่ารถเก็บขยะคันหนึ่งจะมีพนักงานแค่สองคน คือคนขับรถกับคนประจำท้ายรถ ลมฟ้าอากาศถือว่าเป็นปัจจัยแห่งปัญหาเลยครับ และบ่อยครั้งผู้คนที่ใช้ท้องถนนก็สร้างปัญหา เพราะไม่ค่อยหลบรถเก็บขยะ แซงได้แซง อันตรายมาก ๆ ผมเองก็ต้องคอยระมัดระวังตนเองและดูทางให้เพื่อนร่วมงานที่ขับรถ ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานอย่างมากเลย
ถ้าจะเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ ที่ทำงานในเยอรมนี ผมคิดว่า คนเอเชียเป็นคนขยัน หนักเอา เบาสู้ คนไทยอาจจะเสียเปรียบชาติอื่น ๆ เรื่องการสื่อสารภาษาเยอรมัน สำหรับผมนั้น ไม่เป็นไรครับ เพราะว่า งานของผมแทบจะไม่ได้พูดภาษาเยอรมันเลย วัน ๆ พูดไม่กี่ประโยค(หัวเราะ) ทำงานวันละไม่เกิน 10 ชั่วโมง เก็บขยะวันละ ไม่ต่ำกว่า 7 ตัน พอกลับถึงบ้าน ก็ไม่อยากทำอะไรแล้ว นอกจากขอนอนพักผ่อน เพราะต้องตื่นตอนตีสี่ตีห้า ถึงที่ทำงานตอนหกโมงเช้า ผมก็ไม่คิดว่าจะทำงานอาชีพนี้ตลอดไปหรอกครับ ก็หางานใหม่ไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ผมก็สนุกและภูมิใจกับงานอาชีพที่ผมทำอยู่ ผมคิดเอาเองว่า ผมน่าจะเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวในประเทศเยอรมนีที่ทำงานอาชีพนี้อยู่
คติประจำใจในการทำงาน: เคารพการตัดสินใจของตน สนุกกับการทำงาน แล้วเราไม่รู้จักคำว่าเบื่อกับงาน
นางแบบสำหรับงาน Bodypainting & Portrait
ดิฉันชื่อ แสงสุรีย์ มีมงคล เพื่อน ๆ เรียกว่า “ลาบี้ เข้ามาทำงานในสายงานนี้โดยความบังเอิญค่ะ ขอย้อนเวลากลับไป 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นดิฉันทำงานแผนกจัดตกแต่งสถานที่(Decoration)ที่ โรงละคร “Die Staatstheater - Oper Stuttgart” อยู่มาวันหนึ่งที่โรงละครมีการคัดเลือกนักแสดงเข้าร่วมแสดงละครเรื่อง "Turandot" ดิฉันก็เลยลองสมัครดูค่ะ ก็ได้ร่วมแสดง โดยส่วนตัวแล้วชอบและประทับใจในงานด้านการแสดงมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบร้องรำทำเพลงและชอบการแสดงบนเวทีต่าง ๆ งานแสดงในตอนนั้นเน้นด้านงาน Bodypainting ซึ่งจะไม่เปิดเผยหน้าตาของนักแสดง เช่น พอแสดงเสร็จในแต่ละฉาก ก็จะต้องมีคนเอาเสื้อผ้ามาคลุมให้ ไม่มีใครรู้เลยว่า นักแสดงหน้าตาเป็นอย่างไร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ค่อย ๆ เข้าสู่อาชีพนางแบบ Bodypainting ทำงานอาชีพนี้ก็ร่วม 10ปีแล้วค่ะ
ระยะหลัง ๆ นี้ มีงานจ้างดิฉันให้ไปเป็นนางแบบงาน Bodypainting เพื่อส่งผลงานเข้าประกวด ทำให้เกิดความประทับใจว่า ตัวเราได้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดีไซด์ เป็นรูปต่าง ๆ หรือเปลี่ยนสภาพให้เป็นสัตว์ประหลาด การแสดงลีลาท่าทางให้เข้ากับงานศิลป์นั้น ๆ ดิฉันเองก็ชอบวาดรูป หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น ศิลปินคนหนึ่ง จึงรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานด้านศิลปะ ดีใจที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมในเรื่องของสีสรรและจินตนาการ ดูแล้วทำให้โลกสวยงามขึ้นค่ะ
ปัญหาในการทำงานก็มีบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเวลาค่ะ เพราะว่าการเตรียมตัวสำหรับงานแบบนี้ จำเป็นต้องมีสุขภาพที่ดี ต้องมีเวลาให้กับตัวเอง ต้องมีความพร้อม พักผ่อนเพียงพอ ทานอาหารเพียงพอ ทุกอย่างแข่งกับเวลา ต้องมีความอดทนมาก ๆ บ่อยครั้งที่ต้องยืนทั้งวันรวมเวลาไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ยิ่งถ้าเป็นงานช่วงฤดูหนาว บ่อยครั้งที่ถึงกับป่วยเลยค่ะ ดิฉันคิดว่า การทำงานในต่างเเดนไม่ว่าจะเป็นงานในแขนงใด เราควรมีความพร้อมและรักในงานอาชีพของตน มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มีสัมพันธไมตรี มีการยอมรับซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ ใส่ใจในการทำงานที่รับมอบหมายให้ ไม่ว่างานที่ได้นั้นจะมีค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนมากหรือน้อย คุณภาพของงานที่ทำอยู่ที่ตัวเราเอง เคารพกติกาของประเทศที่เราทำงาน เช่น เสียภาษี เคารพต่อกฏหมายของประเทศที่เราทำงานอยู่ แล้วเราก็จะดำเนินชีวิตในฐานะชาวต่างชาติได้อย่างไม่มีปัญหา ที่สำคัญอีกประการคือ เรียนภาษาของประเทศนั้นให้เข้าใจลึกซึ้ง แล้วจะช่วยให้เราเข้าใจทุกอย่างได้ดี
คติประจำใจในการทำงาน: งานหนักเราเอา งานเบาเราสู้ อย่าตั้งคำถามกับตัวเองให้มากนัก
นักดนตรีบำบัด(Musiktherapeut)
ผมชื่อชลัช วรยรรยง ชื่อเล่นชือ “หมู” ทำงานเป็นนักดนตรีบำบัดเข้าปีที่ 4 แล้วครับ เริ่มจากการที่ผมอยู่กับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เคยทำงานเป็นครูสอนดนตรีมาก่อน ตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ตัวเอง พอมีโอกาสได้เที่ยวเยอรมนีครั้งแรก
ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่คนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดนตรีบำบัด แล้วทุกอย่างก็เริ่มหลังจากนั้น
มีหลายเรื่องเลยครับที่ผมประทับใจในงานที่ผมทำอยู่ ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่เราได้สัมผัสจากการทำงาน การได้เห็นคน ๆ หนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การที่เขามีความเข้าใจในปัญหาของตัวเองมากขึ้น รู้จักปล่อยวาง ให้อภัย รู้จักรักตัวเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น และอีกเรื่องก็คงจะเป็นความภูมิใจของตัวเองที่เป็นนักดนตรีบำบัดคนไทยคนเดียวในเยอรมนี และได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีบำบัดของที่นี่ครับ
งานนักบำบัดนี่เป็นงานที่ต้องแบกรับความกดดันและความเครียดทางอารมณ์ค่อนข้างสูงแล้วบางช่วงเวลามันจะมีปัญหาในชีวิตส่วนตัวเข้ามาแทรกด้วยทำให้ระดับความเครียดมันเพิ่มขึ้นได้ง่ายกว่าปกติซึ่งเราก็ต้องระวังตรงนี้ครับต้องคอยสังเกตตัวเองการฝึกสติสามารถช่วยให้เรารับมือกับเรื่องพวกนี้ได้ดีขึ้นทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวครับแล้วสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหามันก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป การทำงานในต่างแดนเราก็ควรคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางความคิดและทักษะการปรับตัวที่ดีจะช่วยให้การทำงานมีความสุขมากขึ้นครับ
คติในการทำงาน: เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง
ผู้ช่วยทันตแพทย์ (Zahnmedizinische Fachangestellte)
ดิฉันชื่อจารุวรรณ ไรท์เทอร์ เรียนจบผู้ช่วยทันตแพทย์ (Zahnmedizinische Fachangestellte)เมื่อปี 2008 ทำงานในอาชีพนี้มาจนถึงปี 2014 แล้วเปลี่ยนสายอาชีพไปหาประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพอื่น แต่ในที่สุดก็กลับมาทำอาชีพนี้อีกเมื่อต้นเดือนกันยายน 2016 เพราะว่ารักและคิดถึงในอาชีพที่ร่ำเรียนมาค่ะ
แรกเริ่มเดิมทีดิฉันมาเรียนภาษาเยอรมันด้วยวีซ่านักเรียนอยู่ 3 ปีค่ะ แล้วก็สมัครเรียนอาชีพผู้ช่วยทันตแพทย์ โดยได้ไปขอคำแนะนำด้านการเรียนสายอาชีพจากสำนักแรงงาน(Berufsberatung bei Arbeitsamt) ซึ่งได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือดีมาก ๆ หลังจากนั้นก็ติดต่อหาสถานที่ฝึกงาน และสถานที่เรียนค่ะ ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจ ก็เลยได้เรียนผู้ช่วยทันตแพทย์จนจบ และได้ทำงานในอาชีพนี้ ความฝันก็เลยกลายเป็นความจริง
ดิฉันประทับใจในอาชีพนี้ ที่ได้พบปะกับผู้คนหลากหลายอาชีพ หลายชนชั้น ได้รู้จักผู้คนมากมายต่างชนชั้นต่างสถานะ รุ้สึกสนุกกับงาน แม้จะมีปัญหาในการสื่อสาร ที่ไม่ค่อยเข้าใจคนไข้ เพราะคนไข้บางคนพูดภาษาท้องถิ่น ก็มีการเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนบ้างค่ะ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ
การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมต่างแดน เราต้องอดทน ต้องสู้ ต้องแข่งกับเวลา ต้องดันตัวเองให้เพื่อนร่วมงานยอมรับเราให้ได้ ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องตรงไปตรงมา ... มีแต่คำว่า “ต้อง”นะคะ(หัวเราะ)
คติประจำใจในการทำงาน: คือ กล้าคิดกล้าทำ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ต้องถาม
อย่าอาย
วิศวกรเครื่องจักร-ช่างกล(Maschinenbau Ingenieur)
ผมชื่อ ภาณุมาศ นามสูงเนิน ประกอบอาชีพวิศวกรเครื่องจักร-ช่างกลได้ 3 ปีแล้วครับ หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยที่มิวนิค ผมก็สมัครงานหลายที่ในประเทศเยอรมนี แล้วสุดท้ายก็เลือกงานที่มิวนิค
ผมสนุกกับงานที่ทำอยู่ ได้ทำงานกับลูกค้าจากบริษัทรถยนต์หลายยี่ห้อในประเทศเยอรมนี เช่น BMW, Audi, Prosche และ Mercedes Benz การออกแบบเครื่องจักรและการจัดการแผนก พัฒนาการและออกแบบเป็นงานท้าทายและน่าสนใจมาก ในตอนเริ่มต้นเข้ามาทำงานในบริษัท ก็ประสบปัญหาเรื่องการใช้ภาษาเยอรมันและวัฒนธรรมการทำงานของคนเยอรมัน เช่น การออกความคิดเห็นชัดเจน การพูดตรง ๆ และการเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคคล พอผมทำงานได้สักครึ่งปี ก็ดีขึ้นครับ ผมคิดว่า การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่า ถ้าจุดมุ่งหมายหรือค่านิยมในการทำงานแตกต่างกัน แล้วไม่พยายามปรับ ไม่พยายามหาทางแก้ไข ก็ทำงานด้วยกันยาก
คติประจำใจในการทำงาน: จะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มที่ “ความเข้าใจ” ว่า งานที่ทำอยู่นั้นมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ก็ตาม
พนักงานจัดการท่องเที่ยวสำหรับการเดินทางส่วนตัวและธุรกิจ(Tourismuskauffrau für Privat- und Geschäftsreisen)
ดิฉันชื่อ จิรพันธุ์ นุทโท เป็นพนักงานในบริษัทจัดการท่องเที่ยว( Reisebüro) มีหน้าที่จัดการเดินทางให้กับลูกค้าทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชนที่เดินทางในหน้าที่การงาน งานที่ทำจะครอบคลุมตั้งแต่การสำรองที่นั่งเที่ยวบิน ออกบัตรโดยสารเครื่องบิน รถไฟ จองโรงแรมที่พัก ไปจนถึงการจัดเตรียมรถเช่า และการเดินทางประเภทอื่น ๆ โดยสรุปก็คือทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเดินทางของลูกค้า ทำงานด้านนี้มาตั้งแต่เริ่มมาอยู่ในเยอรมนีใหม่ ๆ ในตอนนั้นยังเรียนภาษาเยอรมันอยู่ และได้ทราบว่ามี Reisebüro แห่งหนึ่งเปิดรับสมัครพนักงานในตำแหน่งนี้ ลักษณะงานเหมือนกันกับงานที่เคยทำที่เมืองไทย ก็เลยลองไปสมัครดู ซึ่งก็โชคดีมากที่สามารถนำประสบการณ์จากงานที่เมืองไทยมาใช้ที่นี่ได้อย่างเต็มที่ จนถึงปัจจุบันก็ทำงานด้านนี้มากว่า 25 ปีแล้วค่ะ
ดิฉันชอบงานด้านการเดินทาง และการให้บริการผู้โดยสาร การได้จองเที่ยวบิน ได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง การได้ออกบัตรโดยสารให้ลูกค้า ทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือนกับได้เดินทางไปด้วย ในการทำงานก็มีอะไรใหม่ๆให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ เช่นลูกค้าต้องเดินทางไปในที่ที่ไม่รู้จักมาก่อนว่าอยู่ตรงจุดใดของแผนที่โลก ก็ต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อจัดการเอกสารการเดินทางต่าง ๆ ที่จำเป็นให้ลูกค้าได้ ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการทำงานแทบจะในทุก ๆ ด้าน รูปแบบของการทำงานจึงเปลี่ยนไปด้วย การหาข้อมูลจึงทำได้สะดวกรวดเร็วและไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากเหมือนในอดีตอีกต่อไป
ปัญหาในการทำงานก็มีเป็นเรื่องปกติ เช่น เมื่อเกิดการประท้วงหยุดงานของสายการบิน ทำให้เที่ยวบินถูกยกเลิก เราก็ต้องมีหน้าที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลูกค้าให้เร็วที่สุด การทำงานในเยอรมนีและกับคนเยอรมัน เป็นการทำงานที่มีเราต้องมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา มีความตั้งใจทำงาน ไม่ควรพูดหรือทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องงานในสถานที่ทำงาน การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา การวางแผนงาน การกำหนดมาตรการนโยบายในเรื่องต่างๆ ที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว พนักงานสามารถตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนได้เต็มที่
คติประจำใจในการทำงาน: ให้ใจในงานที่ทำ และ คิดบวก
ผู้ช่วยบริบาลผู้สูงอายุ(Pflegehelferin)
ดิฉันชื่อ นทีกาญจน์ ซาผูด ทำงานนี้มา 3 ปี ย่างปีที่ 4 จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ไปเรียนคอร์สภาษาและอาชีพ (Sprach und Beruf) ในหลักสูตรมีการฝึกงานในสายอาชีพที่สนใจ ตัวดิฉันเองสนใจงานดูแลคนชรา ทางโรงเรียนก็เลยให้ไปฝึกงานในสถานดูแลผู้สูงอายุเป็นเวลา 3 สัปดาห์ พอจบคอร์ส ก็เลยขอเรียนด้านนี้ต่อ และเข้าอบรมหลักสูตร Pflegehelfer ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการอบรมเพื่อเสริมสร้างคุณสมบัติในการทำงาน (Qualifikationsmaßnahme) ใช้เวลา 6 เดือน จบแล้วก็มีบริษัทมาติดต่อให้ไปทำงาน 2 เดือนหลังจากนั้นก็มาสมัครงานที่นี้ ก็ที่ที่เคยมาฝึกงาน และก็ได้ทำงานแต่นั้นมา
ดิฉันประทับใจเพื่อนร่วมงาน ที่ไม่มีใครกินแรงใคร การมาทำงานนี้เพราะชอบคนแก่ การได้ทำงานที่นี่ ทำให้มีความรู้ดี ๆ รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ที่ว่า เราก็สามารถทำได้เหมือนคนเยอรมัน ไม่ได้อยู่เฉย ๆ แต่มีงานทำ
ในการทำงานดิฉันมีปัญหาในการใช้ภาษาเยอรมันบ้าง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเขียนรายงานการทำงาน หรือเวลาที่ต้องสรุปว่า แต่ละวัน คนชราที่ดูแลเป็นอย่างไร แต่ที่สบายใจมากก็คือ เพื่อนร่วมงานในเยอรมนีจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน
การทำงานในเยอรมนีก็ดีกว่าในประเทศไทย เพราะที่เยอรมนีมีสวัสดิการให้ ซึ่งไม่ใช่เป็นสวัสดิการที่ให้แค่เราคนเดียว ลูกก็พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย
คติประจำใจในการทำงาน: ตรงต่อเวลางาน ต้องรักในงานที่ทำ จึงจะมีความสุขในการทำงาน
ผู้ช่วยการผลิต Produktionshelferin
ดิฉันชื่อ วันทนา ออสท์ไมเออร์ ผู้ช่วยการผลิต ทำงานในอาชีพนี้มา 11ปีแล้ว ตอนนั้นอยากหางานทำ ก็เลยลองอ่านในหนังสือพิมพ์รายวัน ที่จะมีคอลัมน์เสนอตำแหน่งงานจากที่ต่าง ๆ บริษัทที่ดิฉันสังกัดอยู่เป็น Leihfirma เขาก็จะส่งไปทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่จะทำงานในสถานประกอบการที่ทำอยู่ปัจจุบันเป็นหลัก การทำงานในหลาย ๆ ที่ ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในการทำงานเสมอ หรือแม้แต่ในที่ทำงานปัจจุบันก็ยังมีอะไรหลายอย่างให้เรียนรู้อีกมากมาย
ปัญหาในการทำงานก็มีบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสื่อสาร ที่บางทีเราอาจจะยังไม่ลึกซึ้งในภาษาเยอรมันก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วดิฉันคิดว่า การทำงานในเยอรมนีเป็นการทำงานที่มีแบบแผน มีระเบียบ และบ่อยครั้งที่จำเป็นต้องมีความอดทน
คติประจำใจในการทำงาน: ตั้งใจทำงานและใจเย็นมีรอยยิ้ม
พนักงานขาย (Verkäuferin)
ดิฉันชื่อ อ้อย ไกสส์ ทำงานเป็นพนักงานขายในร้านเอเชียมา 5 ปีแล้ว เริ่มจากเป็นลูกค้าประจำของร้าน จากลูกค้ากลายมาเป็นเพื่อน เวลาร้านขาดคนงาน ก็เข้ามาช่วยบ้าง แล้วก็มาฝึกงาน พอเจ้าของร้านเห็นว่าทำได้ ก็เลยจ้างเป็นพนักงานขายประจำ อาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่ครอบครัวในไทยทำกันมาหลายชั่วคน พอได้มาทำงานนี้ก็ภูมิใจที่ได้สืบทอดต่อ
ความประทับใจในการทำงานนี้ก็คือ มีโอกาสที่ได้พูดคุยและแนะนำเรื่องอาหารไทย และสินค้าต่าง ๆ แก่ลูกค้า รู้สึกดีใจค่ะ เมื่อลูกค้ากล่าวขอบคุณ แต่บางครั้งก็เจอลูกค้าไม่น่ารักและไม่มีมารยาท มักมีการกระจายข่าวไปในสังคมไทยแคบ ๆ สุดท้ายก็มักมีคำถามมาเข้าหูนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของร้านอยู่เนือง ๆ สิ่งเหล่านี้บางทีก็รบกวนจิตใจ แต่ดิฉันโชคดีที่นายจ้างเข้าใจ และไว้วางใจ
การทำงานในเยอรมนีนั้นถือว่าดีมาก เพราะว่า ลูกจ้างได้รับสวัสดิการสังคมที่ดี แม้ว่าเงินเดือนจะไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับความรู้ของเราที่มี ดิฉันก็พอใจและคิดว่า เหมาะสมแล้ว
คติประจำใจในการทำงาน: ต้องมีความสุขกับงานที่ทำ เมื่อทำงานที่รักก็จะทำงานได้ดี
Add a comment