“ให้มรดก & รับมรดก” Erben & Vererben กฎหมายมรดกของเยอรมัน
(comments: 0)
“ให้มรดก&รับมรดก”Erben& Vererben
กฎหมายมรดกของเยอรมัน
รวบรวมโดย อัญชัญ เฮียร์ลิ่ง
เมื่อฉันสิ้นลมหายใจ...ผู้ใดบ้างหนอที่จะเป็นผู้รับมรดกของฉัน ใครจะมีสิทธิ์เป็นผู้สืบทอดมรดก ใครไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับทรัพย์สินของฉัน เช่น บ้าน เงินในธนาคาร เครื่องเพชรพลอย หนี้สิน ฯลฯ หรือว่าในช่วงที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ ฉันควรจะทำพินัยกรรม หรือควรจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกหลานก่อนดีไหมหนอ
ผู้อ่านนิตยสารดีคงจะจำได้ว่า ทีมงานนิตยสารดีได้เคยนำบทความเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมรดก มาลงพิมพ์ให้อ่านแล้ว เช่น บทความ “สิทธิและผลทางกฎหมายเนื่องจากการเสียชีวิต” เขียนและรวมรวมโดย อัญชัญ เฮียร์ลิ่ง ลงพิมพ์ในนิตยสารดี เล่มที่ 6และบทความ”ตกพุ่มม่าย”เขียนและรวมรวมโดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว ลงพิมพ์ในนิตยสารดี เล่มที่ 7
ในนิตยสารดีฉบับที่24นี้เป็นการเพิ่มเติมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการสืบทอดมรดกที่ผู้เขียนได้รับฟังมาจากการบรรยายสัญจรหัวข้อ “อยู่เยอรมนี” ที่เมืองชทุทการ์ท บรรยายโดย ทนายความโทมัส นายน์เฮ้าส
คำศัพท์เฉพาะ(Grundbegriff)
คำศัพท์เกี่ยวกับมรดก |
คำอธิบาย |
เจ้ามรดก (der Erblasser) |
ผู้ตาย (der Verstorbene) |
กองมรดก (der Nachlass หรือ das Erbe) |
มรดกทั้งหมด ซึ่งรวมสินทรัพย์และหนี้สินที่ผู้ตายมีอยู่จนถึงวันที่ตาย |
หนังสือสำคัญการเป็นผู้รับมรดก |
เอกสารหลักฐานที่ระบุว่า เป็นผู้รับมรดก ใช้เป็นหลักฐานแสดงแก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ธนาคาร และอื่น ๆ ว่า เป็นผู้รับมรดก หนังสือสำคัญนี้สามารถติดต่อขอได้ที่ ศาลจัดการมรดก (Nachlassgericht ซึ่งเป็นหน่วยงานของศาลชั้นต้น(Amtsgericht) ที่ดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต หรือจากโนทาร์ (Notar) |
ผู้รับมรดก (der Erbe, die Erbin) |
บุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่รับมรดก |
ผู้รับมรดกตกทอดของผู้ตายที่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย |
ผู้ที่เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมรดก(มาตรา1922 ff. ประมวลกฎหมายแพ่ง) หรือผู้ที่เป็นผู้รับมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรม (Testament)หรือในสัญญามรดก (Erbvertrag) ในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรม การจัดการเรื่องการรับมรดกจะเป็นไปตามกฎหมายมาตรา1922 ff. ประมวลกฎหมาย การรับมรดกจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม |
พินัยกรรม (das Testament) |
เอกสารที่แสดงเจตนาของเจ้ามรดกในเรื่องการจัดการทรัพย์สินว่า จะยกทรัพย์สินใด ให้แก่ใครบ้างอาจไม่เขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ หรือขอทำพินัยกรรมที่โนทาร์ ในกรณีนี้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม |
มรดกที่พึงได้รับตามสิทธิ์ |
มรดกที่ทายาทโดยธรรม (สามี ภรรยาและบุตร) มีสิทธิ์ที่จะได้รับตามสัดส่วนที่กำหนด แม้ว่าเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมกำจัดไม่ให้รับมรดกก็ตาม |
การสละสิทธิไม่ขอรับมรดก Erbverzicht/Erbausschlagung |
ใครที่ไม่ต้องการรับมรดก ก็สามารถขอถอนตัวจากการเป็นผู้รับมรดก ซึ่งจะต้องยื่นเรื่องการขอสละสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษร ภายในเวลา 6 สัปดาห์หลังจากที่ทราบข่าวการตาย หรือได้รับทราบข่าวว่าจะเป็นผู้รับมรดก ส่งเรื่องไปที่ศาลจัดการมรดก(Nachlassgericht) หรือศาลชั้นต้น (Amtsgericht)ในเขตที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ |
ผู้ร่วมรับมรดก |
ในกรณีที่เจ้ามรดกระบุผู้มีสิทธิ์ร่วมรับมรดกหลายคนก็จะมีผู้มีสิทธิ์รับมรดกร่วมกัน |
กฎหมายมรดกเยอรมัน – กฎหมายมรดกไทย กฎหมายใดใช้ได้สำหรับฉัน
ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีย่อมมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายมรดกของเยอรมัน ตั้งแต่เดือน17สิงหาคม ค.ศ.2015เป็นต้นมามีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับกฎหมายมรดกของสหภาพยุโรป(Europäische Erbrechtsverordnung)ว่า ให้ใช้กฎหมายมรดกตามภูมิลำเนาหลัก(der gewöhnliche Aufenthalt) ของผู้ตายมาบังคับใช้ในการจัดการมรดกระเบียบข้อบังคับนี้ใช้ได้กับบุคคลทุกสัญชาติที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศในสหภาพยูโรป เช่น คนสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีและเสียชีวิตในประเทศเยอรมนี ก็ให้ใช้กฎหมายมรดกของเยอรมันมาบังคับใช้ ถ้าประสงค์จะขอให้จัดการมรดกตามกฎหมายไทย ก็ต้องทำพินัยกรรม
การสืบทอดมรดก(Erben)คืออะไร
เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมผู้ที่มีสิทธิรับมรดกจะเป็นใครนั้นขึ้นอยู่กับว่า เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมก่อนตาย
หรือไม่ ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใครผู้รับมรดกตามระบุในพินัยกรรมย่อมได้รับมรดกตามนั้นลักษณะนี้เรียกว่าผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมเเต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำแล้วเเต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลตามกฎหมายไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามทรัพย์มรดกจะตกเป็นของทายาทโดยธรรม
ณ วินาทีที่เจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรมมีสถานะเป็นผู้รับมรดกทันที
ข้อควรทราบ:ทรัพย์มรดกไม่ได้หมายถึงสินทรัพย์ของผู้ตายเท่านั้น แต่หมายถึงหนี้สินของผู้ตายด้วย
การสืบทอดมรดก
ในการสืบทอดมรดกนั้น จะสืบทอดมรดกใน2ส่วน
1.มรดกตามกฎหมายเพราะได้ใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยาร่วมกันมา
2.สิทธิที่จะได้มรดกในส่วนที่เป็นส่วนแบ่งของดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินส่วนตัวร่วมกัน(Zugewinnausgleich)อันเนื่องมาจากว่า ได้ใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยาร่วมกัน และเลือกที่จะใช้การจัดการและครอบครองทรัพย์สินร่วมกัน(Zugewinngemeinschaft)นั่นคือครองคู่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้มีการทำสัญญาคู่สมรสเพื่อตกลงกันเรื่องการจัดการทรัพย์สินหากว่าสามีภรรยาทำสัญญาคู่สมรส(Ehevertrag)และตกลงกันที่จะแยกกันจัดการและครอบครองทรัพย์สิน(Gütertrennung)เมื่อคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลง คู่สมรสที่เหลือก็จะได้มรดกในส่วนนี้น้อยลง
เมื่อคุณเป็นผู้รับมรดก คุณต้องทำอย่างไร
ตามกฎหมายเยอรมัน เมื่อมีการตาย ก็จะมีการรับมรดก ซึ่งหมายถึง ผู้ที่จะได้รับทรัพย์สินที่มีอยู่ของผู้ตาย รวมทั้งหนี้สินของผู้ตายทั้งหมด ผู้ที่จะเป็นทายาทรับมรดกตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม จะต้องมีหนังสือสำคัญการเป็นผู้รับมรดก(Erbschein)หนังสือนี้สามารถติดต่อขอได้ที่ ศาลจัดการมรดก(Nachlassgericht)ซึ่งเป็นหน่วยงานของศาลชั้นต้น(Amtsgericht)ที่ดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตหรือสามารถขอให้โนทาร์(Notar)เป็นผู้จัดการทำให้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงแก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ธนาคารและอื่น ๆ เพื่อที่จะจัดการในเรื่องที่ควรทำโดยทันที เช่น บอกยกเลิกโทรศัพท์ยกเลิกการเป็นสมาชิกองค์กรต่าง ๆ แจ้งให้ทางประกันสุขภาพและสวัสดิการสะสมเงินเลี้ยงชีพในวัยชรา ฯลฯ
รับมรดกที่เป็นหนี้สิน จะทำอย่างไรดี
หากว่ามรดกที่จะได้รับนั้นเต็มไปด้วยหนี้สิน ผู้จะรับมรดกสามารถขอสละสิทธิไม่ขอรับมรดกนั้นก็ได้(Erbausschlag)โดยยื่นเรื่องการสละมรดกเป็นลายลักษณ์อักษรไปที่ศาลจัดการมรดก(Nachlassgericht)หรือ ศาลชั้นต้น(Amtsgericht)ในเขตที่ผู้ตายพำนักอยู่ ภายในเวลา 6สัปดาห์หลังจากที่ทราบข่าวการตาย หรือเมื่อได้รับทราบข่าวว่า ตนเองจะเป็นผู้รับมรดก
ในกรณีที่ผู้จะรับมรดกอยู่ต่างประเทศ กำหนดระยะเวลายื่นเรื่องสละมรดกจะยืดออกไปเป็นเวลา6เดือนหากผู้จะรับมรดกไม่แน่ใจว่า มรดกที่จะได้รับนั้นจะเป็นหนี้สินหรือเป็นทรัพย์สิน ก็สามารถยื่นเรื่องขอให้ศาล(Nachlassverwaltung)ดำเนินการตรวจสอบว่า มีหนี้สินหรือทรัพย์สินอยู่เท่าไร เพื่อที่จะได้มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่า ควรที่จะรับมรดก หรือควรจะสละมรดก
พินัยกรรม(Testament)
พินัยกรรม คือ เอกสารแสดงเจตนา หรือคำสั่งครั้งสุดท้ายของผู้ทำพินัยกรรม เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน หรือกิจการ
ของตน หรืออาจเป็นการสั่งการเรื่องอื่นๆไว้ เช่น เรื่องผู้รับมรดก เพื่อที่จะให้เกิดผลบังคับตามกฎหมาย พินัยกรรมจะต้องทำขึ้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ทำพินัยกรรม(ซึ่งมักจะเป็นเจ้ามรดก)สามารถเขียนพินัยกรรมขึ้นมาด้วยตนเองซึ่งต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองระบุสถานที่เขียนและลงวันที่เขียนให้ชัดเจน อาจจะเก็บรักษาไว้เองหรือจะนำไปฝากเก็บไว้ที่ศาลชั้นต้น(Amtsgericht)ในเขตที่ผู้ทำพินัยกรรมอาศัยอยู่ก็ได้หรืออาจไปทำพินัยกรรมกับโนทาร์(Notar)โดยระบุเจตนาของเจ้าของมรดก และเมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต โนทาร์ก็จะเป็นผู้ดำเนินการติดต่อทายาทผู้รับมรดก และติดต่อกับศาลจัดการมรดก(Nachlassgericht)เพื่อขอให้ออกหนังสือการเป็นทายาทรับมรดกให้แก่ทายาทฯ การทำพินัยกรรมกับโนทาร์ จะต้องเสียค่าธรรมเนียม จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สินที่หักหนี้สินแล้ว
ข้อควรทราบ
-คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีสามารถเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือของตนเองเป็นภาษาไทย ก็ได้
-เก็บพินัยกรรมไว้ในที่ปลอดภัย หรือฝากไว้กับคนที่ไว้วางใจได้ หรือนำไปฝากไว้ที่ศาลแขวงในเขตที่ผู้ทำพินัยกรรมอาศัยอยู่
สัญญามรดก(Erbvertrag)
สัญญามรดก คือ การทำสัญญาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินมรดกเมื่อผู้ทำสัญญาเสียชีวิต เป็นเหมือนคำสั่งครั้งสุดท้ายในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน และอื่นๆ คล้ายกับการทำพินัยกรรม สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ สัญญามรดกนั้นเป็นพันธะผูกพันระหว่างคู่สัญญา นั้นคือในขณะที่ทายาทตามพินัยกรรม ไม่มีสิทธิที่จะขัดแย้ง ในการยกเลิกหรือแก้ไข เพิ่มเติมพินัยกรรมแต่อย่างใดแต่คู่สัญญาในสัญญามรดกมีสิทธิดังกล่าวนั่นคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงใดๆที่ทำไว้ คู่สัญญาทั้งสองจะต้องลงความเห็นร่วมกัน
สัญญามรดก และพินัยกรรมจึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของการจัดการเกี่ยวกับมรดก หากว่าไม่ต้องการให้การ
สืบทอดมรดกเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้เจ้ามรดกสามารถทำเป็นพินัยกรรมหรือสัญญาการสืบทอดมรดกก็ได้ การทำสัญญาฯ ดังกล่าวนี้เป็นการตกลงกันระหว่างเจ้ามรดกกับผู้สืบทอดมรดก หรือผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วม ทั้งนี้เพื่อที่จะตกลงกันว่า การสืบทอดมรดกจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย แต่จะเป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญา ส่วนใหญ่แล้วการทำสัญญามรดกมักจะทำควบคู่ไปกับการทำสัญญาคู่สมรส(Ehevertrag)
ใครบ้างที่มีสิทธิ์จะได้รับมรดกตามกฎหมาย(ในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรม)
เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตายจะถูกนับรวมๆ กันเป็น “กองมรดก” และมอบให้แก่ผู้รับมรดกตกทอดของผู้ตายที่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย(สามี/ภรรยาและบุตรของผู้ตาย)หรือผู้รับพินัยกรรม หรือทายาทตามกรณีไป และต้องดูด้วยว่ามีสัญญาคู่สมรสหรือสัญญามรดกหรือไม่ในกรณีที่ไม่มีสัญญาคู่สมรส และไม่มีการตกลงกันในเรื่องแยกทรัพย์สินออกจากกันและกันสามี/ภรรยาของผู้ตายก็จะได้รับมรดกตามกฎหมาย
นอกเหนือจากสามี/ภรรยาและบุตรของผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้รับมรดกตกทอดของผู้ตายที่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย(die gesetzliche Erbfolge)ก็ยังมีทายาทโดยธรรมที่เป็นเครือญาติของผู้ตายซึ่งมีสิทธิ์ได้รับมรดกตามกรณีไปโดยเรียงลำดับดังนี้
ทายาทอันดับที่หนึ่ง(มาตรา1924ประมวลกฎหมายแพ่ง)คือ บุตรของผู้ตายและหลาน(ลูกของลูก)
ทายาทอันดับที่สอง(มาตรา1925ประมวลกฎหมายแพ่ง)คือ บิดาและมารดาของผู้ตาย พี่ น้องและหลาน(ลูกของพี่และน้องของผู้ตาย)
ทายาทอันดับที่สาม(มาตรา1926ประมวลกฎหมายแพ่ง)คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ญาติที่เป็นลูกของลุง
ป้า น้า อา
ตัวอย่างการแบ่งปันมรดกแก่ผู้รับมรดก
ตัวอย่างที่ 1: ผู้ตายจดทะเบียนสมรสและมีบุตร 1 คน
|
ตัวอย่างที่ 2: ผู้ตายจดทะเบียนสมรสและมีบุตร 2 คน
|
ตัวอย่างที่ 3: ผู้ตายจดทะเบียนสมรสและไม่มีบุตร
|
ตัวอย่างที่ 4: ผู้ตายจดทะเบียนสมรสไม่มีบุตร ไม่มีทายาทโดยธรรมแต่อย่างใด
|
คู่รักที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส– เมื่อฝ่ายหนึ่งตายอีกฝ่ายจะมีสิทธิ์รับมรดกหรือไม่
คนที่เป็นคู่รักกัน อยู่ด้วยกันมานานหลายปี ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือทะเบียนคู่ชีวิต และไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้แต่อย่างใด เมื่อฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายก็จะไม่มีสิทธิ์เป็นผู้รับมรดกของผู้ตาย เพราะว่าไม่ได้เป็นคู่สมรส และไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรม
ตัวอย่าง
ผู้ตายอาศัยอยู่กับเพื่อนหญิง(ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ที่โนทาร์)และผู้ตายยังไม่ได้หย่าจากภรรยา ซึ่งมีบุตรด้วยกันสามคน ในกรณีนี้การแบ่งปันมรดกกจะเป็นดังนี้
คู่สมรส(ภรรยา)มีสิทธิ์รับมรดก½ของกองมรดกบุตรทั้งสามคนมีสิทธิ์รับมรดก½ของกองมรดก(บุตรแต่ละคนได้รับ1ใน6ของกองมรดก ประมาณ 16,67%)ส่วนเพื่อนหญิงไม่ได้รับมรดกแต่อย่างใด
ข้อควรทราบ
ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ และต้องการทำพินัยกรรมให้เพื่อนหญิงต้องไปทำที่โนทาร์(Notar)เท่านั้น เพื่อที่จะให้มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย
มรดกที่พึงได้รับตามสิทธิ์(der Pflichtteil)
แม้ว่าเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่คนอื่น โดยกำจัดคู่สมรสและบุตรไม่ให้รับมรดกแล้วก็ตาม สามี/ภรรยาและบุตรในฐานะที่เป็นผู้รับมรดกตกทอดของผู้ตายที่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย(die gesetzliche Erbfolge)ยังสามารถอุทธรณ์ เพื่อขอรับมรดกที่พึงได้รับตามสิทธิ์(der Pflichtteil)
แม้ว่ากฎหมายมรดกจะระบุไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมสามารถเขียนตามความต้องการของตนได้ก็ตาม แต่ในเรื่องที่จะกำจัดภรรยาและบุตรไม่ให้รับมรดกที่พึงได้รับตามสิทธิ์(der Pflichtteil)ย่อมทำไม่ได้
ตัวอย่าง1
สามีเขียนพินัยกรรมว่า ไม่ให้ภรรยารับมรดกของตน แต่ขอให้บุตรสองคนเป็นผู้รับมรดกทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ในกรณีนี้ภรรยาสามารถเรียกร้องขอรับมรดกที่พึงได้รับตามสิทธิ์จำนวน 1/4ของมรดกแต่ถ้าทำสัญญาคู่สมรสและได้ตกลงแยกทรัพย์สินออกจากกันในช่วงสมรส(ไม่มีการตกลงเรื่องมรดก)ภรรยาจะมีสิทธิ์ได้รับเพียง1/6ของมรดก
ตัวอย่าง2
สามีอาศัยอยู่กับเพื่อนหญิง และได้ทำพินัยกรรมที่โนทาร์ เพื่อขอยกมรดกทั้งหมดให้แก่เพื่อนหญิง และตัดสิทธิ์ไม่ให้ภรรยาและบุตรรับมรดก ในกรณีนี้เพื่อนหญิงของเขาก็จะเป็นผู้รับมรดกทั้งหมด ภรรยาและลูกสามารถเรียกร้องขอรับมรดกที่พึงได้รับตามสิทธิ์ซึ่งภรรยาจะมีสิทธิ์ได้รับจำนวน1/4ของมรดกบุตรสองคนจะได้รับคนละ1/8ของมรดก
ข้อควรทราบถ้ามีการตกลงกันไว้ในสัญญาคู่สมรสระหว่างสามีและภรรยา(Ehevertrag)หรือสัญญามรดก(Erbvertrag)ว่าแต่ละฝ่ายขอสละสิทธิ์การอุทธรณ์ในเรื่องการขอรับPflichtteilก็จะไม่ได้รับอะไรเลย
-
มรดกร่วมกัน„Erbengemeinschaft“
กรณีที่ผู้รับมรดกมีหลายคน และต้องการรับมรดกร่วมกัน ในกรณีนี้จะต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพย์มรดก
ด้วยกัน
ตัวอย่าง
ผู้ตายจดทะเบียนสมรส มีบุตรสองคน มรดกคือ บ้าน1หลังและห้องที่อยู่อาศัย3แห่ง ภรรยาและบุตรทั้งสองคนตกลงกันว่า ต้องการเป็นผู้รับมรดกร่วมกัน ก็หมายความว่า ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกส่วนไหน แต่ทั้งสามคนเป็นเจ้าของร่วมกัน จะทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับมรดก จะต้องตัดสินร่วมกัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
-โครงการเดินสายให้ข้อมูล “Infotag für mich” หัวข้อ “กฎหมายมรดก” บรรยายโดยทนายความโทมัส นายน์เฮ้าส
-“สิทธิและผลทางกฎหมายเนื่องจากการเสียชีวิต” เขียนและรวมรวมโดย อัญชัญ เฮียร์ลิ่ง ลงพิมพ์ในนิตยสารดี เล่มที่ 6
-”ตกพุ่มม่าย”เขียนและรวมรวมโดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว ลงพิมพ์ในนิตยสารดี เล่มที่ 7
-https://www.bundesregierung.de/Content/DE/Artikel/2014/07/2014-07-25-erbrecht.html
Add a comment