กฎหมายแรงงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 3
(comments: 0)
กฎหมายแรงงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 3
“สิทธิในการลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น”
ศักดา บัวลอย
ฉบับที่แล้วผมได้นำเสนอ “สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง” ซึ่งกล่าวถึงสิทธิในการมีวันหยุดงานเพื่อการพักผ่อนทั่วไป ในฉบับนี้จะกล่าวถึงหลักเกณฑ์และสิทธิการลาประเภทต่าง ๆ ของลูกจ้าง ซึ่งเป็นการลาที่ยังได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเช่นกัน และตอนท้ายจะกล่าวถึง สิทธิที่จะได้เงินชดเชยของลูกจ้างเมื่อไม่สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลานาน เพราะก็เป็นกรณีที่ไม่ได้ทำงานแต่ก็ยังได้รับค่าตอบแทนเช่นกัน
สิทธิการลาประเภทต่าง ๆ
นอกเหนือจากสิทธิในการมีวันหยุดงานเพื่อการพักผ่อนทั่วไปแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิในการลาประเภทต่าง ๆ ที่เป็นการลาที่ยังได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง อันได้แก่
1. การลากิจ สิทธิในการการลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น หรือการลากิจของลูกจ้างนั้น เป็นการลาที่ยังได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง เช่น การลากิจเนื่องจาก งานแต่งงาน การย้ายบ้าน การไปติดต่อราชการ หรือว่า จำเป็นต้องไปหาหมอ สำหรับการลากิจในโอกาสเหล่านี้นายจ้างจะต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาได้ ทั้งนี้กฎหมายมิได้กำหนดการลากิจไว้ เพียงแต่นิยามไว้ว่า เป็นการลาที่นอกเหนือจากชั่วโมงและวันเวลาว่าง โดยทั่วไปบริษัทจะมีข้อกำหนดอนุญาตการลากิจไว้ในกฎระเบียบพนักงาน ในสัญญาว่าจ้างส่วนบุคคล หรือตามสัญญาว่าจ้างร่วมของสหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์แรงงานเฉพาะกลุ่มสาขาอาชีพนั้น ๆ (Gesamtarbeitsvertrag, GAV) หากไม่มีการระบุเรื่องสิทธิการลากิจดังกล่าวในสัญญาว่าจ้าง สิทธิการได้รับค่าจ้างในการลากิจจะให้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนเท่านั้น ส่วนลูกจ้างรายชั่วโมงจะได้รับค่าจ้างในการลากิจก็ต่อเมื่อมีการระบุลงในสัญญาจ้างงานร่วม หรือสัญาญาจ้างเป็นรายบุคคลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
โดยทั่วไปจะกำหนดตามเกณฑ์ดังนี้
การย้ายบ้านลาได้ 1 วัน
การเรียกพลฝึกทหาร และรายงานตัวทหารลาได้ 1 วัน
ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดเสียชีวิตลาได้ 1 วัน
ไปร่วมงานศพลาได้ 1 วัน
ไปร่วมงานแต่งงานของญาติสนิทลาได้ 1 วัน
ภรรยาคลอดบุตรลาได้ 1 วัน
วันแต่งงานของตนเองลาได้ 2 - 3 วัน
บุคคลในครอบครัวเสียชีวิตลาได้ 1- 3 วัน (ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์)
คู่สมรส บุตร อาศัยอยู่ภายในครัวเรือนเดียวกันเสียชีวิตลาได้ 3 วัน
บุตรที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกันป่วยลาได้ 1-3 วัน (กรณีที่ไม่สามารถหาผู้ดูแลบุตรได้)
นอกจากนื้ตามประมวลกฎหมายบังคับมาตรา 29 ย่อหน้า 3 (Art. 329 Abs. 3 OR) ลูกจ้างมี สิทธิลากิจเพื่อหางานใหม่ หลังจากที่นายจ้างยกเลิกการว่าจ้างงานแล้ว (ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้า) ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับเวลาว่างนอกเหนือจากชั่วโมงหยุดพัก และวันว่างทั่วไป เพื่อใช้เป็นเวลาในการหางานใหม่ โดยทั่วไปประมาณครึ่งวัน ต่อ 1 อาทิตย์1
2. ลาป่วย2 จะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ กรณีลูกจ้างป่วยจนไม่สามารถไปทำงานได้ ลูกจ้างจะต้องแสดงหลักฐานการป่วยให้แก่นายจ้างทราบ ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้ข้อกำหนดไว้ว่า จะต้องทำอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่อป่วยเกิน 3 วัน จะต้องแสดงใบรับรองแพทย์แก่นายจ้าง ใบรับรองแพทย์จะต้องระบุข้อมูลชัดเจน ตั้งแต่ เริ่มป่วย จนถึงวันสิ้นสุดและระดับของอาการป่วยที่ไม่สามารถทำงานได้ ส่วนคำวินิจฉัยโรคไม่จำเป็นต้องแจ้งให้นายจ้างรับทราบ
3. ลาเพื่อดูแลบุตรที่ป่วย ถือเป็นการลากิจชนิดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายแรงงานมาตรา 36 (Art. 36 Abs. 1, 3 ArG) ลูกจ้างที่มีบุตรอยู่ในความดูแลซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี หากบุตรป่วย และได้นำใบรับรองแพทย์มาแสดงเพื่อขอลาดูแลบุตร นายจ้างจะต้องให้วันลาหยุดแก่ลูกจ้างรวมระยะเวลาได้ถึง 3 วัน
4. สิทธิในการลาเพื่อไปรับราชการทหาร ลูกจ้างที่มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหาร หรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฝ่ายพลเรือน ตามระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นจำนวน 80 เปอร์เซ็นของเงินเดือนจากกองทุนประกันสวัสดิการสังคมชดเชยรายได้ (Erwerbsersatzordnung คำย่อ EO) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ahv-iv.ch/p/6.01.d (สืบค้นข้อมูล วันที่ 24.11.2019)
5. สิทธิการลาคลอด ตามประมวลกฎหมายบังคับมาตรา 329f (Art. 329f OR) ลูกจ้างสตรีมีสิทธิลาคลอดได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 อาทิตย์ หลังจากคลอดบุตร
นอกจากสิทธิในการลาคลอดแล้ว กฎหมายแรงงานยังให้สิทธิและคุ้มครองสตรีมีครรภ์ และที่ให้นมบุตรดังนี้
- การคุ้มครองสุขภาพของมารดา ตามกฎหมายแรงงานมาตรา 35 (Art. 35 ArG) นายจ้างมีหน้าที่จัดลักษณะการทำงานให้แก่สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร เพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและบุตร สำหรับงานหนักและเป็นอันตรายนายจ้างสามารถออกกฎระเบียบตามเงื่อนไขพิเศษ เพื่อยกเว้นมิให้สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรต้องประกอบการดังกล่าว หากนายจ้างไม่สามารถจัดหางานในลักษณะเดียวกันนี้ให้แก่สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตรได้ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินเดือน 80 เปอร์เซ็น โดยรวมค่าเบี้ยเลี้ยงตามความเหมาะสมของเงินเดือนปกติ (โดยไม่ต้องทำงาน)
การคุ้มครองดังกล่าว กฎหมายได้แจงรายละเอียดไว้ใน มาตรา 35a (Art. 35a ArG) ดังนี้
1. การทำงานสำหรับสตรีมีครรภ์ และหญิงที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตรนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากสตรีผู้นั้น
2. อนุญาตให้สตรีมีครรภ์ไม่ต้องทำงาน หรือละการทำงานได้โดยแสดงความจำนงว่า ต้องการเวลาในการให้นมบุตร
3. ช่วงระยะเวลาหลังคลอด 8 อาทิตย์จะไม่อนุญาตให้ทำงาน หลังจาก 16 อาทิตย์เป็นต้นไป จะต้องได้รับความยินยอมจากสตรีผู้นั้น นายจ้างจึงสามารถให้เริ่มทำงานได้
4. ไม่อนุญาตให้สตรีมีครรภ์ที่ใกล้คลอด (เริ่มตั้งแต่ 8 อาทิตย์ก่อนคลอด) ทำงานระหว่างเวลา 20 นาฬิกา และ 6 นาฬิกา
- การทำงานทดแทน และการจ่ายเงินเดือนในระหว่างหยุดงานของสตรีมีครรภ์และสตรีที่ต้องให้นมบุตร กฎหมายแรงงาน มาตรา 35 และ 35b (Art. 35 und 35b ArG) ระบุไว้ว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นสตรีมีครรภ์ ที่ทำงานระหว่างเวลา 20 นาฬิกา ถึงเวลา6 นาฬิกา ให้นายจ้างจัดเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานมาเป็นระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 20 นาฬิกา โดยจัดให้ทำงานในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้รวมถึงในช่วงระยะเวลาอาทิตย์ที่ 8 ถึง 16 หลังคลอดด้วย
หากนายจ้างไม่สามารถเปลี่ยนช่วงระยะเวลาการทำงานให้กับสตรีมีครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร ที่ทำงานในระหว่างเวลา 20 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกาได้ ตามกฎหมายนี้ ลูกจ้างสตรีดังกล่าวสามารถหยุดงานได้ โดยมีสิทธิได้รับเงินเดือน 80 เปอร์เซ็น รวมค่าเบี้ยเลี้ยงตามความเหมาะสมของเงินเดือนปกติ
กรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลานาน
ในการทำงานโดยทั่วไปนั้นอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เช่น ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ อาจมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ เพื่อให้มีการคุ้มครองในส่วนนี้ ลูกจ้างควรสอบถามนายจ้างเกี่ยวกับประกันรายได้เสริมชดเชยในกรณีดังกล่าว เช่น การทำประกันชดเชยการเจ็บป่วย (Krankentagsgeldversicherung) ในกรณีที่ลูกจ้างป่วยเป็นระยะเวลานาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินเดือนจากการทำประกัน 80 เปอร์เซ็นของเงินเดือน รับสูงสุดถึง 720 วัน ในระยะเวลา 900 วัน ตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน
หากลูกจ้างไม่มีประกันดังกล่าวข้างต้น ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามประมวลกฎหมายบังคับมาตรา 324 (Art. 324 OR) ดังนี้ ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำประกันเงินชดเชย สำหรับลูกจ้างที่ทำงานนานเกินกว่า 3 เดือน (ทั้งลูกจ้างรายเดือนรายชั่วโมง) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชย เป็นระยะเวลา 3 อาทิตย์ หากลูกจ้างทำงานนานเกินกว่า 2 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินเดือนชดเชยตามตารางกฎระเบียบของแต่ละรัฐ ดังตัวอย่างนี้
ตารางคำนวณการจ่ายเงินชดเชย ของรัฐเบิร์น (Berner Skala)
ปีการทำงาน Dienstjahr |
การจ่ายเงินเดือนต่อ Lohnfortzahlung |
1 ปีแรก |
3 อาทิตย์ |
ปีที่ 2 |
1 เดือน |
ปีที่ 3 และ ปีที่ 4 |
2 เดือน |
ปีที่ 5 ถึงปีที่ 6 |
3 เดือน |
ปีที่ 10 ถึงปีที่ 14 |
4 เดือน |
ปีที่ 15 ถึงปีที่ 19 |
5 เดือน |
ปีที่ 20 ถึงปีที่ 25 |
6 เดือน |
ตารางคำนวณการจ่ายเงินชดเชย ของรัฐบาเซิล (Basel Skala)
ปีการทำงาน Dienstjahr |
การจ่ายเงินเดือนต่อ Lohnfortzahlung |
1 ปีแรก |
3 อาทิตย์ |
ปีที่ 2 และ ปีที่ 3 |
2 เดือน |
ปีที่ 4 ถึงปีที่ 10 |
3 เดือน |
ปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 |
4 เดือน |
ปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 |
5 เดือน |
เริ่มตั้งแต่ปีที่ 21 |
6 เดือน |
ตารางคำนวณการจ่ายเงินชดเชย ของรัฐซูริค (Zürich Skala)
ปีการทำงาน Dienstjahr |
การจ่ายเงินเดือนต่อ Lohnfortzahlung |
1 ปีแรก |
3 อาทิตย์ |
ปีที่ 2 |
8 เดือน |
ปีที่ 3 |
9 เดือน |
ปีที่ 4 |
4 เดือน |
ปีถัดไป |
เพิ่ม 1 อาทิตย์ตามจำนวนปี |
ที่มา ตารางคำนวณการจ่ายเงินชดเชย ของรัฐเบิร์น รัฐบาเซิล รัฐซูริค https://www.trabeco.ch/fileadmin/media/downloads/Mitarbeiter/KMU_Portal_Berner_Skala.pdf
(สืบค้นข้อมูล วันที่ 24.11.2019)
“สิทธิในการลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น” ที่ผมนำเสนอในฉบับนี้ หวังว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในการทำงานร่วมกันตามสิทธิและหน้าที่ รวมทั้งช่วยส่งเสริมและเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งสองฝ่าย
ฉบับหน้าผมจะนำเสนอเรื่อง “หน้าที่ของนายจ้าง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องเคารพและปกป้องความเป็นส่วนตัว ตลอดทั้งความรับผิดชอบต่อสุขภาพของลูกจ้างและป้องกันคุ้มครองไม่ให้เกิดอันตรายแก่ลูกจ้างในระหว่างการทำงานทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบการ
https://www.guider.ch/arbeit/arbeitsrecht/absenzen-feiertage-ferien/2C84CA8FB8B7CD75C1256C1A0049864B
https://www.guider.ch/arbeit/arbeitsrecht/krankheit-unfall-militaer/BA1FC40DB574C415C12576C00038D37E
Add a comment